วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตำรวจบ้านโป่งปะทะกับทหารญี่ปุ่น


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือพิมพ์มหาชนและเจินฮว่าเป้าฉบับใต้ดิน ได้รายงานเหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2485 ทหารญี่ปุ่นที่ควบคุมการสร้างทางรถไฟ อยู่ที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ใช้ฝ่ามือตบหน้าพระภิกษุไทยรูปหนึ่งอย่างป่าเถื่อน คนไทยกำลังสร้างทางอยู่ ณ บริเวณนั้นได้เข้าห้ามปรามต่อว่าทหารญี่ปุ่นก็ถูกทหารญี่ปุ่นใช้ดาบปลายปืนไล่ทิ่มแทงและไล่ยิงคนงานจนได้รับบาดเจ็บล้มตายหลายคน

เมื่อนายอำเภอกับหัวหน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง และหัวหน้าสารวัตรทหารไทยทราบเหตุก็พากันไปห้ามปรามและหยุดยั้งการใช้อำนาจป่าเถื่อนของทหารญี่ปุ่นเหล่านั้น ก็กลับถูกทหารญี่ปุ่นใช้ปืนยิงกราดเข้าใส่

ต่อมากองทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในค่ายที่จังหวัดกาญจนบุรี ทราบข่าวก็เคลื่อนกำลัง 3 คันรถ ไปล้อมสถานีตำรวจอำเภอบ้านโป่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้น ทหารญี่ปุ่นใช้ปืนกลยิงกราดอย่างดุเดือด เป็นเหตุให้ตำรวจและชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายกว่าร้อยคน ฝ่ายญี่ปุ่นตายและบาดเจ็บ 4 คน เมื่อนายอำเภอกับหัวหน้าสถานีตำรวจ พร้อมกับนายทหารญี่ปุ่น ยศนายพันไปช่วยกันระงับการปะทะ เหตุการณ์จึงสงบลง ทางการญี่ปุ่นได้กล่าวร้ายป้ายสีว่า กรณีนี้เกิดจากการยุแหย่ของชาวจีนที่เกลียดชังญี่ปุ่น

เหตุการณ์กรณีบ้านโป่ง ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายไทยกับกองทัพญี่ปุ่นอยู่ในสภาพตึงเครียดมาก ผู้แทนกองทัพบกญี่ปุ่นประจำไทย ได้ส่งหนังสือประท้วงถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยความเห็นอันรุนแรง เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินคดีต่อคนไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ทำให้ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายอย่างเฉียบขาด พร้อมทั้งขู่สำทับด้วยว่า ญี่ปุ่นจะรอดูผลการปฏิบัติของฝ่ายไทย แล้วจึงกำหนดท่าทีของฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นต่อประเทศไทยในภายหลัง ในอนาคตถ้าหากเกิดคดีเช่นนี้อีก ฝ่ายญี่ปุ่นจะถือว่าเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินการยุทธของกองทัพญี่ปุ่น และจะดำเนินการโดยพลการในสถานที่นั้นๆ โดยประเทศไทยต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ภายใต้การคุกคามของทหารญี่ปุ่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการพิจารณาหาทางป้องกันเหตุแทรกแซงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2485 และได้กำหนดมาตรการที่ฝ่ายไทยนำมาใช้เพื่อป้องกันเหตุแทรกแซงทางการเมือง คือ

  1. สั่งหน่วยสารวัตรไทย ที่ตั้งค่ายอยู่บริเวณใกล้เคียง อำเภอบ้านโป่งถอนกำลังกลับเพื่อป้องกันเหตุลุกลาม
  2. ให้จัดการย้ายข้าหลวงประจำจังหวัดราชบุรี นายอำเภอบ้านโป่ง ผู้กำกับการตำรวจภูธรราชบุรี นายตำรวจ ตลอดจนนายสิบและพลตำรวจ จากสถานีบ้านโป่งประมาณครึ่งหนึ่งไปราชการที่อื่น และให้โยกย้ายสับเปลี่ยนข้าหลวงประจำจังหวัดกาญจนบุรี และนายอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีด้วย
นอกจากนี้ ยังสั่งโยกย้าย ร.ต.ต.ศรีสุข อุ่นคำ นายตำรวจผู้รับผิดชอบบังคับบัญชาที่สถานีบ้านโป่ง ให้ไปอยู่ที่อำเภอกาฬสินธ์ จังหวัดมหาสารคาม
ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2485 มีประกาศให้ อำเภอบ้านโป่ง, ลูกแก, ท่าเรือน้อย, อำเภอท่าม่วง และทุกอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตทหาร ให้ชาวต่างด้าวย้ายออกจากเขตห้ามทางทหารภายใน 10 วัน ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก หรืออาจมีโทษถึงตายในข้อหาก่อความไม่สงบ

การประกาศเขตห้ามทางทหารเช่นนี้ อีก 2 เดือนต่อมายังได้ขยายไปใช้ใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอีกด้วย ซึ่งได้ทำให้ชาวจีนในเขตเหล่านี้ นับจำนวนหลายแสนคนต้องอพยพลี้ภัยและได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดชาตินิยม ของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ร่วมกับญี่ปุ่นต่อต้านชาวจีนเป็นอย่างดี.

ที่มา :
ข้อมูล : ดำริห์ เรืองสุธรรม. (2544). ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพ ฯ : สุขภาพใจ. (หน้า 106-107)
ภาพ :
-
http://statics.atcloud.com/files/comments/54/542614/images/1_original.jpg
-
http://www.reurnthai.com/rtimages/RW2101x6.jpg
-http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/555/9555/images/IMG_7803.jpg

ไม่มีความคิดเห็น: