วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความพยายามในการกู้หัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

ในความพยายามที่จะกู้หัวรถจักร มีวัตถุประสงค์หลายประการในการที่จะกู้ขึ้นมา ดังนี้

หนังสือศาลากลางจังหวัดราชบุรี (2535) ระบุว่า เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษของไทยที่เคยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น และเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา

รายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ กล่าวถึง จุดประสงค์ที่ต้องการนำหัวรถจักรขึ้นมา (2540)
1. เป็นอนุสรณ์เตือนเยาวชนรุ่นหลังว่า ครั้งหนึ่ง ราชบุรีเคยมีผลกระทบต่อภัยสงครามและเป็นเส้นทางผ่านของญี่ปุ่น
2. นำไปเป็นโบราณวัตถุ เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ จ.ราชบุรี
3. สามารถให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา
วัตถุประสงค์ เพื่อกู้หัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพญี่ปุ่นขึ้นเหนือน้ำ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี และใช้เรื่องราวปูมประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อหาของการจัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบงานประจำจังหวัดราชบุรี (สืบสานประเพณีราชบุรีสู่สากล) (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ.2548)
ความพยายามที่จะกู้หัวรถจักร จากหลักฐานเริ่มแรกที่ค้นพบ เกิดจากความคิดของ ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือไปถึง เจ้ากรมการทหารช่าง ลงวันที่ วันที่ 30 กันยายน 2535 จังหวัดเห็นสมควรที่จะมีการกู้หัวรถจักรไอน้ำ จึงขอให้ทางกรมการทหารช่างโปรดพิจารณาตรวจสอบและความเป็นไปได้ในการกู้หัวรถจักร (หนังสือศาลากลางจังหวัดราชบุรี . 2535)
หลังจากได้รับหนังสือ กรมการทหารช่าง ได้มอบหมายให้ กองพลทหารช่าง ดำเนินการสำรวจว่าอยู่ในขีดความสามารถของหน่วยหรือไม่ พร้อมให้เสนอแนะความเป็นไปได้ จากผลการสำรวจได้ข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทำให้มีข้อมูลเบื้องต้นในจำนวนหนึ่ง และมีแผนที่จะลงไปสำรวจเพิ่มเติมโดยใช้นักดำน้ำ ในระหว่างเดือน ธันวาคม 2535 ถึง มกราคม 2536 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของหัวรถจักร การทับถมของชั้นดิน ลักษณะของพื้นท้องน้ำ กระแสน้ำ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ใต้น้ำที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเรื่องเงียบหายไป
จนกระทั่ง นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ส.ส.ราชบุรี เขต 2 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขออนุญาตเรียนเชิญ พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการนำหัวรถจักรไอน้ำ ที่จมอยู่บริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ขึ้นมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยเจ้ากรมการทหารช่างตอบรับเป็นประธาน โดยกำหนดการประชุมในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2540 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมยงใจยุทธ กองบัญชาการกรมการทหารช่าง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมในวันนั้น ประกอบด้วยบุคคลสำคัญต่างๆ สรุป ได้แก่ (รายงานการประชุม เรื่อง หัวรถจักรไอน้ำ. 2540)
1. พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง
2. นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
3. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เขต 2
4. พลตำรวจตรีจำลอง แสงทวีป ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี
5. นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฎ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี
6. นาวาตรีอภิชัย คล้ายแก้ว เจ้าท่าภูมิภาค 3
7. นายสมศักดิ์ สุวรรณไพบูลย์ วิศวกร อำนวยศูนย์ที่สะพาน ฝ่ายการช่างโยธา
8. นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ นายช่างแขวงการทาง จ.ราชบุรี
9. นายบำรุง บัวโสพิศ นายช่างหัวหน้าโครงการชลประทาน จ.ราชบุรี
10. นายมโณ กลีบทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
11. พลตรีพินิจ ศุขสายชล เสนาธิการกรมการทหารช่าง
12. พลตรีบุญเลิศ ประทุมรัตน์ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง
13. พันเอกสุจิต จิตต์รักมั่น รองเสนาธิการกรมการทหารช่าง
14. พันเอกสมพล อวยพร รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารช่าง
15. ผู้อำนวยการกองต่างๆ ในสังกัดกรมการทหารช่าง
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เขียนเข้าร่วมประชุมด้วยในตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 51 กรมการทหารช่าง สรุปผลการประชุมในวันนั้น ได้ดังนี้
ความเป็นมา การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีชาวบ้านมาบอก ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมต.คมนาคม ซึ่งเดินทางมาประชุมที่ จ.ราชบุรี เรื่องหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่แล้ว ทำไมไม่เอาขึ้นมา ซึ่ง ฯพณฯ สุวัจน์ ให้ความสนใจและขอไปดูสถานที่จริงเลย แต่แจ้งว่าคงมองไม่เห็นเนื่องจากน้ำมาก จึงไม่ได้ไปดู ฯพณฯ สุวัจน์ฯ จึงสั่งให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ช่วยติดตามเรื่องนี้ด้วย
ผลการประชุม ยังไม่ทราบว่าหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด สันนิษฐานว่า อาจเป็นรถจักรขนาดเล็ก รุ่น C-56 ที่ทำในประเทศญี่ปุ่น หรืออาจเป็นรถจักรขนาดเล็ก รุ่น P-CLASS (KITSON/NORTH BRITISH,1917,1919) ที่ทำในประเทศอังกฤษ คงต้องใช้นักดำน้ำลงไปสำรวจข้อมูลเพื่อนำกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อศึกษาผลกระทบต่างๆ และพิจารณาหาวิธีการกู้ต่อไป ซึ่ง ทาง ส.ส.วิเชษฐ์ เกษมทองศรี รับจะไปประสานกับทางสำนักงานโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร มาดำน้ำสำรวจ และจะนำผลการสำรวจมาเข้าที่ประชุมในครั้งต่อไป
หลังจากนั้น วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ได้แจ้งเป็นหนังสือมายังกรมการทหารช่าง ว่า (หนังสือพรรคชาติพัฒนา. 2540) ทางสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี โดยท่าน ผู้อำนวยการสถาพร ขวัญยืน พร้อมที่จะนำนักประดาน้ำของโบราณคดีใต้น้ำมาสำรวจในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2540 พร้อมขอให้นักประดาน้ำของกรมการทหารช่างร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย แต่ด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบการสำรวจในวันที่ 5-7 สิงหาคม 2540 นั้นไม่เกิดขึ้น และไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใดอีกเลย
เรื่องเงียบหายมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี จนกระทั่งในปีที่ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมการทหารช่าง ได้เริ่มจุดประกายการกู้หัวรถจักรขึ้นมาใหม่ ดังนี้
วันพุธที่ 15 กันยายน 2547 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ได้มีหนังสือถึงส่วนราชการต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีลอยกระทงจังหวัดราชบุรี โดยเสนอแนวความคิด เกี่ยวกับการส่งเสริมยุทธศาสตร์จังหวัดราชบุรีด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี และเสนอแนะกิจกรรมทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การแสดง แสง สี เสียง ประกอบกับ หัวรถจักรไอน้ำของกองทัพญี่ปุ่นซึ่งจะดำเนินการกู้ขึ้นมาพ้นน้ำทางด้านฝั่งกรมการทหารช่าง และต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ว่าจ้างนายสุทธิ พยัคฆ์ นายดำรง พยัคฆ์ และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ สามพ่อลูกซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำน้ำลงไปสำรวจและวางทุ่นบริเวณหัวรถจักร ลูกระเบิดที่ด้านอยู่

กรมการทหารช่าง (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ. 2548) ได้เสนอแนวความคิด โครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี (ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) ว่ามีความเป็นไปได้ และมีประโยชน์อย่างมากมาย ที่จะนำจังหวัดราชบุรีไปสู่ความเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศ โดยรายละเอียดของโครงการพอสรุปๆ ได้ ดังนี้
ความเป็นมา จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการสะสมวัฒนธรรมจากหลายยุคหลายสมัย มีหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งบอกถึง การดำรงชีวิตของมนุษย์ สภาพสังคมจิตวิทยาของจังหวัด วิถีชีวิตของชาวบ้าน นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีเหตุการณ์ต่างๆมากมายที่น่าสนใจ น่าศึกษาค้นคว้า สามารถนำมาเป็นจุดสนใจให้กับนักท่องเที่ยวจาก ทั่วประเทศและจากนานาประเทศ ที่จะเข้ามาเยี่ยมชม รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ทราบถึงรูปแบบของเหตุการณ์ต่างๆ นำมาเป็นบทเรียนในการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี
สงครามคือการใช้อำนาจกำลังรบทุกรูปแบบเพื่อแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ สงครามมีหลายรูปแบบ และมีวิวัฒนาการยาวนานตั้งแต่ในอดีต การศึกษาประวัติสงครามนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญแม้ว่าในปัจจุบันนั้นรูปแบบของสงครามที่ใช้กำลังรบที่มีตัวตนมีโอกาสเกิดได้ยาก แต่เป็นการศึกษารูปแบบของการดำเนินกลยุทธ์ทางทหาร รูปแบบของช่วงเหตุการณ์ต่างๆ แนวความคิดในการปฏิบัติของคู่สงคราม เพื่อเป็นบทเรียน ให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งถ้าได้ศึกษาอย่างแท้จริงแล้วก็จะมีประโยชน์อย่างมาก
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ระบุว่า เพื่อกู้หัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองทัพญี่ปุ่นขึ้นเหนือน้ำ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี และใช้เรื่องราวปูมประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อหาของการจัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบงานประจำจังหวัดราชบุรี(สืบสานประเพณีราชบุรีสู่สากล)
การดำเนินการปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ กรมการทหารช่าง(โดยการจ้างเหมาบริษัท) กู้หัวรถจักรไอน้ำซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ปรากฏขึ้นเหนือน้ำทางด้านค่ายภาณุรังษี ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จัดหาที่ใช้ในการแสดงชิ้นส่วนของทุ่นระเบิดและทางรถไฟ มีแผ่นวัสดุถาวรในการบันทึกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหัวรถจักร และเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้น ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าศึกษา จัดสถานที่บริการอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมกับสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก และใช้เป็นส่วนประกอบของงานแสดง แสง สี เสียง ในงานประจำจังหวัดราชบุรีทุกๆปี เพื่อส่งเสริมให้เป็นงานระดับชาติในแผนระยะยาว
กลยุทธ์การผลักดันจุดแข็ง(Strength) ให้เป็นที่สนใจ ต้องใช้การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและจริงจังพยายามสร้างตำนานให้เป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม โดยอาศัยความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว รวบรวมเรียบเรียงให้เกิดมนต์เสน่ห์ และเกิดความเป็นอมตะให้ปรากฏต่อสายตาคนภายนอกทั้งประเทศและนานาประเทศ ใช้ความร่วมมือของส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดปลูกฝังอุดมการณ์และค่านิยมเริ่มต้นจากชาวราชบุรีเป็นเป้าหมายลำดับแรกเพื่อให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม อยากศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งจะเป็นจุดน่าสนใจของจังหวัดในโอกาสต่อไป โดยเมื่อชาวจังหวัดราชบุรีนั้นมีความสนใจแล้วก็จะเกิดความเข้มแข็ง ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจภายในจังหวัด และสามารถผลักดันไปสู่ประชากรทั้งประเทศและนานาประเทศต่อไป
ข้อเสนอแนะ จากการวิเคราะห์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดในการดำเนินการโครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี(ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) มีความเป็นไปได้และมีประโยชน์อย่างมากมาย ที่จะนำจังหวัดราชบุรีไปสู่ความเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเห็นควรดำเนินการดังนี้.-
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน
1.ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งควรจะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.วางแผนการดำเนินการ “โครงการย้อนรอยทางรถไฟสายประวัติศาสตร์จังหวัดราชบุรี(ปฏิบัติการกู้หัวรถจักรไอน้ำ) โดยคณะทำงาน
3. ประชุมแบ่งมอบความรับผิดชอบในการดำเนินการให้กับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง
4. ระดมความคิดหาแนวทางการจัดหางบประมาณเพื่อใช้โดยการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ขั้นตอนที่ 2 เตรียมการ
1.ศึกษาและหาข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อประกอบการปรับปรุงเรื่องราวสร้างจุดสนใจให้เป็นตำนานที่จดจำได้ในระดับสากล
2.จัดหางบประมาณเพื่อใช้โดยการระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
3.ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างทั่วทั้งประเทศ ไม่จำกัดแค่ในจังหวัดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการดำเนินการให้ โดยต้องเริ่มจากเป้าหมายคือพี่น้องชาวจังหวัดราชบุรีให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมกับมรดกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของจังหวัด
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นปฏิบัติการ
1.การดำเนินการกู้หัวรถจักรขึ้นเหนือน้ำ
2.การจัดเตรียมงานแสดง แสง สี เสียง เพื่อใช้ในการประกอบงานประจำปีจังหวัดราชบุรี
ขั้นตอนที่ 4 ขยายผลการปฏิบัติ
1.การสรุปผลการปฏิบัติ และปัญหาข้อขัดข้องของการดำเนินการในแต่ละส่วนที่รับผิดชอบ
2.รวบรวม เรื่องราวของปฏิบัติการ ปัญหาข้อขัดข้องพร้อมหาแนวทางแก้ไข เพื่อจัดเก็บเป็นบันทึกเหตุการณ์การดำเนินการซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ในโอกาสต่อไป
3.ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ผลักดันให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีในการแสดง แสง สี เสียง เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ประกอบงานประจำปีจังหวัดราชบุรีในทุกๆปี
ในวันที่ 18 ก.พ.2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง (เบื้องลึกประเด็นข่าว. 2548) ได้ใช้เงินส่วนตัวว่าจ้างให้ นายสุทธิ พยัคฆ์ อายุ 64 ปี นายดำรง พยัคฆ์ อายุ 32 ปี และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ อายุ 31 ปี สามพ่อลูก อยู่บ้านเลขที่ 81/2 ถ.ท่าเสา เขตเทศบาลเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำลงไปวางทุ่นลอยในแม่น้ำแม่กลอง โดยจุดวางทุ่นเป็นหัวรถจักร และลูกระเบิดยาว 1.50 เมตร จำนวน 8 ลูก
ทั้งสามพ่อลูกกล่าวต่อว่า การดำลงไปครั้งนี้พบหัวรถจักรและลูกระเบิดหลายลูก พร้อมด้วยเศษเหล็กที่ถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลาย ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แต่มีสนิมเกาะ ก่อนหน้านี้นับสิบปี พวกตนมาดำงมกุ้งและงมหาของเก่า เมื่อถึงบริเวณนี้ได้พบส่วนของหัวรถจักรจมอยู่ภายในมีทรายอยู่เป็นจำนวนมาก พวกตนเล่าให้กับชาวราชบุรีฟังหลายคน ส่วนระเบิดที่พบนั้นลูกใหญ่สูงเท่าคนเกือบสิบลูก ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งระดับความลึกจากผิวน้ำลงไปถึงหัวรถจักรประมาณ 10 เมตร
นอกจากนั้น ในการดำน้ำในครั้งนี้ พันเอก คณิต แจ่มจันทรา ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 11 (ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ. 2548) ได้รายงานจุดที่ติดตั้งทุ่นลอยสีส้ม ไว้จำนวน 5 จุด เพื่อแสดงตำแหน่งของซากและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
1. หัวรถจักรไอน้ำ 1 คัน (จำนวน 4 ทุ่น)
2. ลูกระเบิด ขนาด 1,000 ปอนด์ 3 ลูก
3. กระจังหน้ารถจักร 1 ชิ้น
4. รางรถไฟ 2 ชิ้น
5. ล้อรถจักร 1 ชิ้น
หลังจากได้ดำเนินการผูกทุ่นลอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ ได้สั่งการให้ชุดประดาน้ำของกรมการทหารช่าง (กองกิจการพลเรือน. 2548) ประกอบด้วย จ.ส.อ.ยุทธนา ปภากรณ์ จ.ส.อ.ธีรวัฒน์ ไล้เลิศ จ.ส.อ.อนุชาลักษมีราต ส.อ.อภิชาต จงอริยตระกูล และ จ.ส.อ.สิทธิเดช เดชแพ ให้ดำน้ำลงไปถ่ายภาพหัวรถจักรใต้น้ำ เพื่อนำขึ้นมาประกอบการประชาสัมพันธ์ โดยได้กำหนดดำน้ำเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำนิ่งและกระแสน้ำต่ำสุด ปรากฏว่าการปฏิบัติงานในครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากทัศนวิสัยใต้น้ำไม่ดี ขุ่นมาก
วันที่ 12 เมษายน 2548 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้เขียนและทีมงานปฏิบัติงานใต้น้ำของกรมการทหารช่างชุดเดิม รวม 4 คน พร้อมด้วยนักดำเก็บกู้สิ่งของจากบ้านท่าเสาอีก 4 คนที่กล่าวมาแล้ว ได้รับมอบหมายอีกครั้งจาก พลโทชัยยุทธฯ เจ้ากรมการทหารช่างให้ลงไปดำน้ำเพื่อพิสูจน์ทราบรูปแบบของหัวรถจักร การพิสูจน์ทราบยังล้มเหลวในวันนี้
วันที่ 13 เม.ย.48 พวกเราลงดำน้ำกันอีกครั้งประมาณ 07.00 น.ซึ่งคำนวณแล้วว่าน้ำจะค่อนข้างนิ่งที่สุด จะได้ไม่มีกระแสน้ำ และฝุ่นตะกอนที่จะรบกวนการมองเห็นและเอื้อต่อการถ่ายภาพของพวกเรา ผลยังคงเหมือนเดิม แต่ในครั้งนี้ เราสามารถจำลองลักษณะการจมต่างๆ ว่าจมอยู่ในลักษณะใด ที่ความลึกเท่าใด หัวรถจักรวางตัวอย่างไร แต่พวกเราก็ยังไม่กล้าฟันธงระบุลงไปว่าเป็นหัวรถจักรรุ่นใด
ในการสำรวจในครั้งนี้ พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ยังได้เชิญ นายพลวัตร ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางกอบกุล นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เขต 1 นายสมศักดิ์ รัตนมุง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี นางศมานันท์ เหล่าวณิชวศิษฎ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรี กำนันเรืองศักดิ์ เลขวัฒนโรจน์ ประธานหอการค้าราชบุรี และ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ร่วมลงเรือสำรวจสถานที่บริเวณที่หัวรถจักรไอน้ำจมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ พร้อมนำเสนอโครงการกู้หัวรถจักรไอน้ำ ให้แก่ นายพลวัตร ชยานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวดราชบุรี และคณะ ได้รับทราบ ซึ่งทั้งหมดมีความเห็นชอบด้วยว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการของจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาต่อไป
ยังไม่จบครับ...บันทึกยังไม่เสร็จ













บทความที่เกี่ยวข้อง
-พิสูจน์ทราบหัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์
-ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 1
-ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 2
-ความพินาศของราชบุรี-สะพานจุฬาลงกรณ์จม

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ยิงรถนักเรียนบ้านคา

ยิงถล่มรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา กิ่ง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
วันที่ 4 มิถุนายน 2545 เป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 12 คน
เหตุการณ์ยิงรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคา เบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุเป็นปัญหาของโชเฟอร์ โดยคนร้ายมาดักรอก่อนยิงถล่มเข้าในรถที่มีนักเรียนเต็มคัน!!!
ตำรวจ-ทหารจับกุม นายจอบิ หรือซอบิ ชาวกะเหรี่ยง แต่ชาวบ้านไม่เชื่อว่าเป็นฆาตกรตัวจริง ถึงขนาดให้การช่วยเหลือบุคคลที่ทางการระบุว่าเป็นฆาตกร ฆ่าลูกหลานของตนด้วยซ้ำ สุดท้ายศาลชั้นต้นยกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของอัยการ

เหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มรถนักเรียนจนเกิดการสูญเสียทั้งเลือดและน้ำตา ซึ่งเป็นที่จดจำและค้างคามาจนทุกวันนี้คือคดียิงถล่มรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา บนถนนสายบ้านโป่งเจ็ด-ร่องเจริญ กิ่ง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545

วันนั้น นายทองมอญ เข็มทอง ขับรถพานักเรียนเต็มคันช่วงที่ชะลอความเร็วขึ้นเนินเขา พบคนร้ายจำนวนหนึ่งออกมายืนขวางถนน แต่นายทองมอญเร่งความเร็วฝ่าออกไป ทำให้คนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงไล่หลัง ผลจากการนั้นมีนักเรียนเสียชีวิตถึง 3 ราย บาดเจ็บอีก 12 คน!!!

ทั้งตำรวจ-ทหารเข้ามาร่วมสะสางคดีนี้โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากปัญหาระหว่างนายทองมอญกับคนร้าย แต่นายทองมอญปฏิเสธ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือใดๆ ไม่นานจากนั้นตำรวจ-ทหารเข้าจับกุมนายจอบิ หนุ่มกะเหรี่ยง โดยกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโจรที่ก่อเหตุ

ทนายความของนายจอบิ ระบุว่า นายจอบิถูกทางการหลอกว่าหากสารภาพจะไม่ได้รับโทษรุนแรง และสามารถกลับไปอยู่กับลูกเมียได้เหมือนเดิม นายจอบิจึงสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และไปทำแผนฯ ตามคำสั่งของทางการที่คอยกำกับการแสดงตลอดเวลา จนเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรจึงให้การปฏิเสธ ในขณะที่ผู้ปกครองเด็กก็ไม่เชื่อว่า นายจอบิจะเกี่ยวข้อง เพราะรูปพรรณซึ่งเป็นคนตัวเตี้ยกว่าปกติ ในขณะที่คนร้ายนั้นพยานระบุว่ามีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนคนไทยทั่วๆ ไป

นอกจากนี้ นายจอบิยังมีพยานหลายปากยืนยันว่า ช่วงเกิดเหตุ อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งห่างออกไปหลายกิโล และการเดินทางจะใช้เวลานานหลายชั่วโมง เพราะต้องเดินฝ่าแนวเขามาด้วย
อย่างไรก็ตามอัยการมีคำสั่งฟ้องนายจอบิ และสู้คดียาวนานกว่า 1 ปี กระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2547 ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ศาลยกฟ้องนั้นเกิดเรื่องราวไม่น่าเชื่อขึ้น เพราะผู้ปกครองเด็กที่เจ็บและตาย พากันมาให้ดอกไม้และปรบมือแสดงความยินดีกับนายจอบิด้วย!??

พร้อมกันนี้ก็ร้องเรียนให้กองปราบฯ เข้ามาสืบสวนคดีนี้ใหม่อีกรอบ เพื่อหาฆาตกรตัวจริงมาดำเนินคดีให้ได้ โดยพุ่งเป้าไปที่ลูกน้องของผู้มีอิทธิพลรายหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับ นายทองมอญ แต่กองปราบฯ เองก็ยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้ เพราะพยานหลักฐานต่างๆ มันชุลมุนชุลเกไปหมดตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ แล้ว

สำหรับนายจอบิ หลังศาลยกฟ้องแต่อัยการยื่นอุทธรณ์ ตอนแรกถูกควบคุมไว้ที่ ตม. แต่ภายหลังย้ายกลับไปอยู่บ้านที่ จ.ราชบุรี ระหว่างนั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ และพยานบุคคลจำนวนมากระบุว่า นายจอบิเป็นคนไทย เกิดและอาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จึงทำเรื่องขอสัญชาติไทย

แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า จนมีการฟ้องร้องนายอำเภอแก่งกระจาน เพื่อให้โอนย้ายชื่อ นายจอบิเข้าทะเบียนบ้านของญาติคนไทย แต่เรื่องราวของนายจอบิยังคาราคาซังอยู่ เช่นเดียวกับความคืบหน้าของคดียิงถล่มรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา ก็ยังค้างอยู่ในสำนวน คนร้ายตัวจริงจึงยังลอยนวลอยู่จนถึงทุกวันนี้!??

ที่มา : คอลัมน์แฟ้มคดี. (2548). น.ส.พ.ข่าวสด. [Online]. avaliable:http://www.kanchanaburi.com/kannews/01896.html. [2552, พฤศจิกายน 9]
ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลพิพากษายกฟ้อง "จอบิ" จำเลยยิงถล่มนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา ระบุพยานโจทก์มีพิรุธหลายอย่าง จึงต้องยกประโยชน์ให้
ด้านเจ้าตัวเผยดีใจสุดที่ศาลยกฟ้อง ขณะที่ญาติของเด็กนักเรียนเหยื่อกระสุนปืนกว่า 50 คน ดีใจหลังฟังคำพิพากษา ระบุไม่เชื่อว่า จำเลยเป็นคนยิงลูกตั้งแต่แรกแล้ว จี้ตำรวจลากคนร้ายตัวจริงมาลงโทษ ผ่านไปกว่า 2 ปี สำหรับเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงถล่มรถรับส่งนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา จนเป็นเหตุให้เด็กนักเรียนได้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว นายจอบิ ผู้ต้องหา ชาวกะเหรี่ยงส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดราชบุรี เพราะเชื่อว่า เขาและพวกเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ ล่าสุดศาลมีคำพิพากษาตัดสินยกฟ้องผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวแล้วเมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 31 มี.ค.2547 ที่ศาลจังหวัดราชบุรี
นายวิวุฒิ มณีนิล ผู้พิพากษา ได้อ่านคำพิพากษาคดีดำที่ อ.4933/45 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจอบิ จำเลยในคดีลอบยิงนักเรียนโรงเรียนบ้านคา ต.บ้านคา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในข้อหาความผิดต่อชีวิต พระราชบัญญัติอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง
ทั้งนี้นายวิวุฒิ ได้อ่านคำพิพากษา โดยบรรยายฟ้องโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2545 นายจอบิ จำเลย กับพวกที่ยังหลบหนี ได้กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในความครอบครอง อีกทั้งจำเลยยังได้พาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ดังกล่าว
นายวิวุฒิ อ่านคำพิพากษา โดยบรรยายฟ้องโจทก์ต่อว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อน โดยใช้อาวุธปืนยิงเด็กนักเรียนถึงแก่ความตาย 3 คน ได้รับอันตรายสาหัส 7 คน ได้รับอันตรายแก่กาย 5 คน ซึ่งการกระทำของจำเลย และพวกถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490 และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 11, 12, 41, 56, 62, 81
นายวิวุฒิ อ่านคำพิพากษาต่อว่า สำหรับคดีดังกล่าว นายจอบิ จำเลย ได้ให้การปฏิเสธ ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์มีพิรุธหลายประการ ดังนั้นจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 จึงพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลบหนีเข้าเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และเข้าเมืองมาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุก 6 เดือน รวม 12 เดือน ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายวิวุฒิ ได้อ่านคำคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายจอบิ ได้เดินออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และดีใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ระหว่างที่ นายจอบิ เดินออกมา ได้มีบรรดาญาติของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านคาที่เสียชีวิต และถูกทำร้าย กว่า 50 คน มายืนให้กำลังใจพร้อมกับปรบมือให้กำลังใจ โดยทุกคนต่างระบุว่า นายจอบินั้นไม่ใช่คนร้ายตัวจริงที่มายิงลูกของพวกเขา ทางด้านนายจอบิ เปิดเผยหลังศาลพิพากษายกฟ้องว่า ดีใจมากที่ศาลยกฟ้อง ขณะนี้คิดถึงลูก และเมียมาก โดยจะรีบออกจากเรือนจำ เพื่อไปหาลูกเมีย
นางสมศรี วรรณะ แม่ของ ด.ช.ประสิทธิ์ วรรณะ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงถล่มรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคาว่า มั่นใจตั้งแต่แรกแล้วว่า นายจอบิ ไม่ใช่คนร้ายที่ก่อเหตุ ดังนั้นจึงไม่อยากให้มารับเคราะห์กับสิ่งที่ไม่ได้กระทำ "เมื่อลูกของฉันตายไปแล้วก็ไม่อยากให้คนบริสุทธิ์ต้องตายตามไปอีก ฉันมาให้กำลังใจ นายจอบิทุกครั้งที่ขึ้นศาล เพราะอยากให้หลุดจากคดีนี้ และอยากเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดีให้ได้" นางสมศรี กล่าว

ที่มา : คมชัดลึก 1 เม.ย.47 [1 เม.ย. 47 11:45] ( IP A:203.113.67.36 X: )
http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=1&name=board5&topic=11&action=view


พ่อ-แม่เหยื่อทมิฬบุกร้อง ป.รื้อคดีถล่ม"รถ นร."สอบสารถีเพิ่มหวังลากคนผิดมาลงโทษให้ได้
ผู้ปกครอง นร.โรงเรียนบ้านคาวิทยา ราชบุรี รวมตัวร้องกองปราบฯ ให้รื้อคดีอีกครั้ง หลังศาลยกฟ้อง"จอบิ" วอนสอบเพิ่ม"ทองมอญ"คนขับรถวันเกิดเหตุถูกโจรยิงถล่ม เพื่อลากตัวคนร้ายตัวจริงเข้าคุก แฉคนในพื้นที่รู้ดีว่าโชเฟอร์มีปัญหาขัดแย้งหลายอย่างที่เปิดเผยไม่ได้ เพราะเป็นคนเดียวที่น่าจะรู้เรื่องทั้งหมด แต่ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่ไม่ให้พูดความจริง แม้แต่หน้าก็ยังไม่กล้ามอง

ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 9 ส.ค.2547 นายสุชิน ทองคำ อายุ 65 ปี นายฉลอง อู่ตระเภา อายุ 61 ปี และนางสมศรี วรรณะ อายุ 49 ปี ผู้ปกครองเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านคาวิทยา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงใส่รถนักเรียน ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.สมควร พึ่งทรัพย์ สว.ผ.4 กก.2ป. เพื่อเข้าร้องทุกข์ขอให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำพยานในคดีบางปากเพิ่มเติม โดยเฉพาะนายทองมอญ เข็มทอง คนขับรถรับส่งนักเรียนคันที่เกิดเหตุ เนื่องจากเชื่อว่าน่าจะเป็นผู้ที่ทราบสาเหตุทั้งหมดได้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ติดตามจับกุมผู้ที่กระทำผิดที่แท้จริงมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายสุชิน กล่าวว่า คดีนี้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมากว่า 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ คนในพื้นที่ทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร และเชื่อว่าสาเหตุก็น่าจะมาจากตัวของนายทองมอญ ที่ส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีปัญหาขัดแย้งหลายอย่างที่ยังไม่ได้เปิดเผย จึงขอให้ทางกองปราบฯ ช่วยลงไปดำเนินการสอบปากคำนายทองมอญเพิ่มเติมด้วย

"ตอนนี้นายทองมอญไม่ยอมคุยกับพวกผมเลย แม้แต่หน้าก็ยังไม่กล้ามอง ผมรู้มาจากคนใกล้ชิดของนายทองมอญว่าเจ้าตัวทราบเรื่องนี้ดีที่สุด แต่ที่ไม่กล้าเปิดเผยหรือพูดอะไรก็เพราะว่ามีผู้มีอิทธิพลคอยข่มขู่ และบีบบังคับไม่ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงใด ๆ" นายสุชินกล่าว

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 4 มิ.ย. 2545 ที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบสัญชาติ 3 คน สวมชุดลายพรางทหาร ปิดบังใบหน้า ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดกระสุนเข้าใส่รถรับส่งนักเรียน ร.ร.บ้านคาวิทยา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ขณะนายทองมอญ เข็มทอง คนขับรถ กำลังพานักเรียนไปส่งโรงเรียน เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนผู้บริสุทธิ์ ตกเป็นเหยื่อกระสุนเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 3 ศพ บาดเจ็บอีกนับ 10 คน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสืบสวนสอบสวนถึงผู้ก่อเหตุและสาเหตุ กระทั่งวันที่ 18 ก.ค.2545 ปีเดียวกัน ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 อ.สวนผึ้ง จ.ราช บุรี สามารถจับกุม "นายจอบิ" ผู้ต้องสงสัยชาวกะเหรี่ยงได้ ขณะหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านห้วยตำหนัก ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง

นายจอบิ ให้การว่า อยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย แต่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือ โดยถูกนาย "พุโค๊ะ" จอมโจรแนวชายแดนไทย-พม่า ชักชวนไปล่ากระทิงในป่าด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จจึงถูกพาให้ไปปล้นรถชาวบ้านจนเกิดเหตุสลดในที่สุด

หลังพนักงานสอบสวนสอบปากคำนายจอบิแล้วเสร็จ จึงนำตัวให้อัยการส่งฟ้องต่อศาล จ.ราชบุรี โดยศาลนำคดีเข้าพิจารณา กระทั่งวันที่ 31 มี.ค. 2547 จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความมีพิรุธ จึงยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ให้จำคุกข้อหาหลบหนีเข้าเมืองเป็นเวลา 1 ปี ท่ามกลางความยินดีปรีดาของผู้ปกครอง นร. ที่เสียชีวิต และบาดเจ็บ เพราะไม่มีใครเชื่อว่านายจอบิเป็นผู้กระทำผิดจริง สร้างความแปลกใจให้กับผู้ติดตามข่าวสารเป็นอย่างมาก จากนั้นนายจอบิจึงต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในห้องขังของด่านตรวจคนเข้าเมืองกาญจนบุรี ตามคำพิพากษา แต่จากอาการเจ็บป่วยที่กล้ามเนื้อแขนและขาจนไม่สามารถทำงานได้เหมือนเก่าจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาตัว ความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์การรักษาแก่นายจอบิ ทำให้ชีวิตกะเหรี่ยงธรรมดาคนหนึ่งผกผัน จากที่จะตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย กลายเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ กระทั่งผู้ปกครอง นร. ที่เสียชีวิต ได้รวมตัวร้องเรียนกองปราบปราม เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริงอีกครั้ง.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ [10 ส.ค. 47 16:15] ( IP A:203.150.217.115 X: )
http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=1&name=board5&topic=25&action=view

ปัดฝุ่นยิงรถ นร.ราชบุรีพยาน-หลักฐานใหม่ หลังยกฟ้องแพะ จอบิ จับตาสมุนเจ้าพ่อบ้านคา

ปัดฝุ่นยิงรถ นร.ราชบุรีพยาน-หลักฐานใหม่
หลังยกฟ้องแพะ "จอบิ" จับตาสมุนเจ้าพ่อบ้านคาหลังจากศาล จ.ราชบุรี มีคำพิพากษายกฟ้อง "จอบิ" อดีตจำเลยคดียิงรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคา เมื่อต้นปี 2547 ข่าวคราวเกี่ยวกับคดีนี้ก็เงียบหายไปนานกว่า 1 ปีแต่แล้วจู่ๆ ข่าวนี้กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เมื่อตำรวจพบเบาะแสใหม่เกี่ยวกับฆาตกรตัวจริง ที่ก่อเหตุยิงรถนักเรียน ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิตถึง 3 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อปี 2545 ผู้ต้องสงสัยเป็นคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีปัญหากับคนขับรถรับ-ส่งนักเรียน โดยเจ้าหน้าที่ได้เบาะแสจากพยานแวดล้อมหลายปากจนนำมาส่งการรื้อคดีนี้โดยตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจกองปราบปราม


พบพยาน-หลักฐานชิ้นใหม่
คดีคนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม16 ยิงถล่มรถรับส่งนักเรียบนโรงเรียนบ้านคา จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 เป็นเหตุให้มีนักเรียนเสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่งตำรวจจับกุมนายจอบิ หนุ่มกะเหรี่ยงบ้านห้วยน้ำหนัก ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในคนร้ายที่ก่อเหตุ และยังให้การสารภาพด้วยกว่า 1 ปีที่ตำรวจส่งให้อัยการสั่งฟ้องและสืบพยานในศาล จอบิถูกควบคุมตัวไว้ตลอดเวลา

แต่ท้ายที่สุด ศาล จ.ราชบุรี มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยเนื่องจากพยานหลักฐานของตำรวจไม่เพียงพอคดีนี้ก็เงียบหายไปนานนับปีโดยไม่มีทีท่าว่าจะจับกุมฆาตกรที่ก่อเหตุได้ ทำให้พ่อแม่ของเด็กนักเรียนที่เสียชีวิต ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และกองปราบปรามให้รื้อฟื้นคดีใหม่ แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าแต่แล้วช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ข่าวนี้ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อตำรวจได้เบาะแสใหม่เกี่ยวกับฆาตกรที่ก่อเหตุดังกล่าวอย่างบังเอิญ !??

ปมล้างแค้นคนขับรถ นร.
โดยช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.เสวก ปิ่นสินชัย ผบก.ป่าไม้ พ.ต.อ.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง รอง ผบก.ป่าไม้ นำกำลังเข้าจับกุมการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่ กิ่ง อ.บ้านคา ผลการสืบสวนสอบสวนชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มผู้มีอิทธิพลในย่านนั้น เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดียิงรถนักเรียนอย่างไม่คาดฝัน !??

พล.ต.ต.เสวก ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รอง นายกฯ และ รมว.มหาดไทย รวมทั้ง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. เพื่อขอให้มีคำสั่งรื้อคดียิงรถนักเรียนอีกครั้ง พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.ป. รับสำนวนการสอบสวนของตำรวจป่าไม้ มาตรวจสอบพร้อมส่งทีมงานเข้าพื้นที่ กิ่ง อ.บ้านคา อีกครั้งเจ้าหน้าที่เรียกสอบสวนพ่อแม่เด็กนักเรียนที่เสียชีวิต และนักเรียนที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้ง นายทองมอญ เข็มทอง คนขับรถรับ–ส่งนักเรียนมีรายงานว่า

ผู้ต้องสงสัยคราวนี้เป็นคนไทยชื่อย่อ "ส" สมุนของเจ้าพ่อรายหนึ่ง และเป้าหมายในการก่อเหตุคือตัวนายทองมอญ นั่นเอง !??

แฉเหตุทะเลาะในโอเกะ
การสืบสวนสอบสวนครั้งใหม่ตำรวจพบว่า นาย "ส" เป็นลูกน้องผู้มีอิทธิพลใน จ.ราชบุรี มีเรื่องขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนายทองมอญ ภายในร้านคาราโอเกะ "ใจสั่งมา" ของนายทองมอญ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "เกาลูน"
นาย "ส" กับสมุนจำนวนหนึ่งไปเที่ยวร้านคาราโกะ แล้วเกิดสนใจเด็กเสิร์ฟชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่ง จึงต้องการซื้อบริการ แต่เด็กสาวไม่ยอม นายทองมอญ ในฐานะเจ้าของร้านเข้ามาเคลียร์ แต่กลับมีปากเสียงอย่างรุนแรงกับ นาย "ส" ทำให้นายทองมอญขู่จะแจ้งตำรวจ พยานระบุว่า นาย "ส" โมโหมาก กล่าวคำอาฆาตก่อนออกไปจากร้านว่า"อีก 2-3 วันเจอกูแน่ มึงตายแน่" และหลังจากนั้นอีก 3 วันก็เกิดเหตุคนร้ายดักยิงถล่มรถนายทองมอญ ขณะขับพานักเรียนไปส่งที่โรงเรียนบ้านคา มีรายงานอีกว่าพยานเด็กนักเรียนรายหนึ่ง ซึ่งเคยให้การว่า นายจอบิ ไม่ใช่มือปืน ระบุกับตำรวจว่าจำหน้าคนร้ายได้คือ นาย "ส" นั่นเอง !??

โดยก่อนหน้านี้พยานนึกไม่ออกว่าเคยเห็นมือปืนที่ไหน จนเมื่อมาเจอ นาย "ส" อีกครั้ง ในหมู่บ้านหลังจากนายจอบิถูกจับแล้ว จึงจำหน้าได้แม่นยำ และยังนำเรื่องไปบอกผู้ปกครองด้วย แต่ผู้ปกครองเกรงว่าจะมีอันตราย จึงห้ามไม่ให้บอกใคร

พลิกแฟ้มคดีเลือดบ้านคาเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มรถนักเรียนโรงเรียนบ้านคา เป็นกรณีรุนแรงและสะเทือนขวัญยิ่ง เมื่อคนร้ายจำนวนหนึ่งใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงถล่มใส่รถนักเรียนตอนเช้า ขณะที่นายทองมอญ ขับรถปิคอัพพานักเรียนเต็มคันผ่านมาบนถนนสายบ้านโป่งเจ็ด–ร่องเจริญ ด.ช.ประสิทธิ์ วรรณะ อายุ 13 ปี ด.ญ.วาสนา ทองคำ อายุ 13 ปี และ ด.ช.กฤษดา อู่ตะเภา อายุ 14 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บอีก 12 คน

ทั้งรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้จับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุให้ได้โดยเร็วที่สุด มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อติดตามคดีนี้โดยเฉพาะเบื้องแรกตั้งไว้หลายประเด็นและผู้ต้องสงสัยหลายกลุ่ม โดยวางน้ำหนักไว้ที่ตัว นายทองมอญ ว่าจะเป็นชนวนเหตุให้คนร้ายดักสังหาร ระหว่างที่กำลังสับสนกับสาเหตุและกลุ่มผู้ต้องหานี้เอง ตำรวจก็เข้าจับกุม นายจอบิ หรือ จอระแบ หนุ่มกะเหรี่ยงบ้านห้วยน้ำหนัก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรีโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่านายจอบิ ให้การสารภาพว่าเป็นมือปืนที่ก่อเหตุ !??

โวยจับแพะ-ศาลยกฟ้อง
นายจอบิ ถูกคุมขังในเรือนจำมาตลอดระหว่างต่อสู้คดี ห้วงนั้นมีข่าวว่า นายจอบิ ไม่เกี่ยวข้องเป็นแค่แพะเท่านั้น เพราะมีพยานหลายปากยืนยันว่าช่วงเกิดเหตุ นายจอบิ ทำงานอยู่ในไร่มะเขืออีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากพอสมควรมีรายงานว่าไม่มีการสอบปากคำพยานกลุ่มนี้ และเจ้าหน้าอ้างว่า นายจอบิสารภาพเองว่าเป็นคนร้ายแต่มีการแฉภายหลังว่า นายจอบิ สารภาพเพราะไม่รู้ว่าคดีนี้มีโทษรุนแรง และเข้าใจว่าเมื่อสารภาพออกไปคดีจะจบลงและตนจะได้กลับมาอยู่กับลูกเมียอีกตามเดิมที่ไหนได้คำสารภาพดังกล่าวกลายเป็นหลักฐานมัดตัว นายจอบิ ข้อหาฆาตกรรมกระนั้นก็ตาม เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลพยานหลักฐานของฝ่ายอัยการมีน้ำหนักไม่มากพอ เพราะนอกจากคำสารภาพของผู้ต้องหาแล้ว อย่างอื่นแทบจะว่างเปล่าและที่น่าประหลาดที่สุดก็คือ พ่อแม่เด็กที่เสียชีวิต และเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ให้การเป็นเสียงเดียวกันว่านายจอบิ ไม่ใช่คนร้าย

ที่เป็นเช่นเพราะนอกจากจะมีพยานว่าจอบิไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว เด็กนักเรียนที่เห็นคนร้ายระบุชัดว่าคนร้ายมีรูปร่างสูงใหญ่เหมือนคนปกติทั่วไปในขณะที่จอบิเป็นคนรูปร่างเล็กและตัวเตี้ยเหมือนเด็ก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่จำได้ง่ายจากหลักฐานและพยานที่อ่อนยวบนี่เอง ศาล จ.ราชบุรี จึงยกฟ้องจอบิ เมื่อต้นปี 2547 และจากวันนั้นคดีก็เงียบหายไปนานนับปี ก่อนที่จะมีการปัดฝุ่นขึ้นมาอีกคำรบเมื่อตำรวจได้เค้าผู้ต้องสงสัยชุดใหม่ !

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1291

ก๊อดอามี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี

เวลาประมาณ 06.15 น.ของวันที่ 24 ม.ค.2543 ขณะที่หมอกลงหนาทึบ ความหนาวยังสัมผัสได้ ขณะที่นายพินิจ ม่วงมณี คนขับรถโดยสารสายสวนผึ้ง-ราชบุรี กำลังขับรถบัสโดยสารประจำทางออกจากที่จอด บ้านตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง เพื่อวิ่งรับผู้โดยสารเช่นปกติ กลับต้องหัวใจเต้นแรงลุ่มร้อนจนใจแทบระเบิด เมื่อมีกองกำลังก๊อดอามี่ประมาณ 10 คน อาวุธครบมือใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ไปส่งที่ราชบุรี

นายพินิจ เล่าว่า เมื่อออกจากรถท่ารถบ้านตะโกล่างได้ เดี๋ยวเดียว ถึงเนินเขาจะเข้บ้านห้วยสุต มีชายชุดพรางออกมาโบกรถให้หยุดเพื่อโดยสาร พอหยุดรถก็มีชายประมาณ 10 คนในชุดพรางเช่นกัน ขึ้นรถ และบังคับให้ขับรถไปจุดหมายปลายทางตามที่เขาต้องเขาเหล่านั้นจะสั่งการ ตลอดเส้นทางจากบ้านตะโกล่างถึงราชบุรี ผ่านด่านตรวจทุกจุดได้อย่างสะดวก ทั้งนี้เพราะโดยปกติ รถโดยสารเที่ยวเช้าเจ้าหน้าที่มักจะไม่เข้มงวด เนื่องจากเป็นที่ชาวบ้านเอาของไปขายตลาดและนักเรียนนักศึกษาเดินทางไปเรียนหนังสือ
ยึดโรงพยาบาลศุนย์ราชบุรี
เวลา 07.20 น.รถบัสโดยสารสายสวนผึ้ง-ราชบุรี สีน้ำทะเลคาดขาวได้ฝ่าด่านของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีเข้าไปจอดสงบนิ่งหน้าตึกอำนวยการ กองกำลังก๊อดอามี่ (God'd Army) 10 นาย ในชุดพรางพร้อมอาวุธครบมือทั้ง เอ็ม 16 เอ็ม 79 และอาร์ก้าได้กระจายกำลังเข้าปฏิบัติการยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีไว้อย่างสันติปราศจากการขัดขวาง โดยวางระเบิดเคโมที่ประตูหน้าและหลังโรงพยาบาลดักกันการจู่โจมของเจ้าหน้าที่ หัวหน้าชุดชื่อ ปรีดา หรือ เบดา หรือ หนุ่ย พูดภาษาไทยได้ดี ได้ให้กองกำลังกวาดต้อนบคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วยเป็นตัวประกันไว้บริเวณตึกอำนวยการชั้น 2 ประมาณ 200 คน มีข้อเรียกร้องเบื้องต้น


  1. ให้ตำรวจวางกำลังห่างจากโรงพยาบาล 300 เมตร
  2. ขอข้าว น้ำ บุหรี่
  3. ขอโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

ประมาณ 08.00 น.เศษ กองกำลังก๊อดอามี่ได้เดินทางสำรวจตึกผู้ป่วย มีเสียงปืนสงครามดังขึ้นในโรงพยาบาล 2-3 ชุด ซึ่งตอนบุกเข้ามาครั้งแรกได้ยิงไปหลายชุดแล้ว

ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างโกลาหลทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล เสียงปืนยังคงดังเป็นระยะแต่ไม่ถี่นัก ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร รายงานเหตุการณ์ถึงหน่วยเหนือถี่ยิบ

ผู้สื่อข่าวทะลักเข้าราชบุรีโดยไม่นัดหมาย ปลายปากกาจดลงบนกระดาษมิมีโอกาสเปิดมือ โทรศัพท์สายด่วนร้อนจี๋ เครื่องมือสื่อสารสับสนเพราะการใช้งานที่มีมากจนสัญญาณคลาดเคลื่อน หลายครั้งที่สัญญาณหายไปเฉยๆ ช่องสัญญาณขัดข้อง

ตำรวจปิดการจราจรถนนทุกสายที่มุ่งสู่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี บรรดาไทยมุงมากขึ้นเป็นลำดับ จังหวัดราชบุรีร่วมกับ กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการณ์ขึ้นที่อาคารสามกีฬา จ.ราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกคนละฟากถนนกับโรงพยาบาลราชบุรี

ทุกฝ่ายยังคงรอเวลาและเตรียมการเจรจาจนประมาณ 11.00 น.เศษได้มีข้อเรียกร้องจากผู้ก่อการร้ายก๊อดอามี่ เสนอความต้องการ

  1. ทีมแพทย์และพยาบาลเข้าไปรักษากองกำลังกระเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่ชายแดนไทย-พม่า
  2. ให้เปิดชายแดนไทย เพื่อให้กองกำลังกะเหรี่ยงมี่ที่พักพิงในเขตไทย

เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้รับความสนใจ ผู้ก่อการร้ายได้ยิงปืนขึ้นฟ้าและยิงยางรถยนต์ 1 ชุด

ในขณะนั้นมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่ประมาณ 580 คน เจ้าหน้าที่ 200 คน ไม่มีใครเข้า-ออกโรงพยาบาลได้ ผู้ป่วยที่จะมารักษาใหม่ในวันนั้น จังหวัดได้ประสานให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแม่และเด็กแทน ด้านทางการแพทย์ได้มีการประสานสั่งการให้โรงพยาบาลใกล้เคียงเตรียมพร้อมรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและสำรองเสบียงอาหารให้กับคนไข้ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีด้วย

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เวรดึก ซึ่งยังไม่ทันได้เปลี่ยนเวร และมีบางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่อยู่เวรเช้าและมาทำงานเช้าเลยติดอยู่มนเหตุการณ์ด้วย

เตรียมพร้อม
จนใกล้เที่ยงวัน พล.ต.ท.วีระ วิสุทธิกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะได้เดินทางมาถึง ได้เข้าหารือกับเจ้าหนาที่ของทางจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้น กองกำลังที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้าพื้นที่ ณ จุดนัดหมาย ชุดปิดล้อทโรงพยาบาล ชุดหน่วยอาวุธพิเศษ หน่วยนเรศวร 261 จาก ตชด.นำโดย พ.ต.ท.ปรีชา บุญสุข หน่วยคอมมานโด นำโดย พล.ต.ต.อัศวิน ขวัญเมือง หน่วยอรินทราช 26 นำโดย พล.ต.ต.ธวัชชัย พรหมประสิทธิ์ และกองกำลังทหารพร้อมเจ้าหน้าที่ สห. นำโดย พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1 ทุกหน่วยงานเริ่ปฏิบัติงานไปตามภารกิจที่ผู้บังคับหน่วยได้รับคำสั่งจากศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการ

11.30 น.พลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะประกอบด้วย พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผบ.ตร. ได้มาถึงศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขเหตุการณ์ โดยแจ้งว่านายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้มีบัญชามอบหมายให้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ.เป็นผู้บัญชาการแก้ไขเหตุการณ์ ผบ.ตร.เป็นรอง พล.ต.ท.วีระ วิสุทธิกุล และ พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ เป็นผู้ช่วย ในช่วงเวลาดังกล่าว นายกร ทัพพะรังษี รมว.สธ. และคณะของกระทรวงสาธารณสุขได้เดินทางมาร่วมสมทบ มีการประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาให้คลี่คลายในทางที่ดีและโดยเร็วภายใต้หลักการที่ว่า "ผู้ถูกกักกันเป็นตัวประกันต้องปลอดภัยและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด"

ศูนย์อำนวยการร่วมฯ ได้จัดให้มีชุดเจรจาต่อรอง ได้เริ่มเจรจาต่อรองอย่างเป็นทางการประมาณ 11.00 น.โดยใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสาร

ผู้ก่อการได้มีหนังสือเรียกร้อง 5 ข้อ คือ

  1. ขอร้องให้ฝ่ายรัฐบาลไทย ทหารไทยหยุดยิงผู้อพยพชายแดน เช่น กะเหรี่ยง มอญ พม่า ซึ่งขณะนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200-300 คนแล้ว ที่ทั้งเด็ก ผู้หญิง และไม่ใช่ทหาร
  2. ขอร้องให้ทหารไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่า โดยหยุดช่วยเหลือด้านนำกำลังเข้ามาทางเขตไทย หยุดยิงจากเขตชายอดนไทย หยุดการฆ่า ข่มขืน พวกอพยพ
  3. ขอร้องให้รัฐบาลไทยทำการช่วยเหลือผู้อพยพ โดยให้นำผู้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทย เนื่องจากผู้อพยพไม่มีอาหารประทังชีวิต ขอให้ช่วยเหลือด้านอาหารโดยด่วน และเต็มที่
  4. ขอร้องให้รัฐบาลไทย และ UN ประชุมปรึกษากัน และกดดันรัฐบาลพม่าให้รัฐบาลพม่ายอมรับและช่วยเหลือผู้อพยพให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
  5. ให้รัฐบาลไทยทำการดำเนินคดีลงโทษ หัวหน้าทหารไทย ซึ่งเป็นผู้สั่งให้ยิงผู้อพยพ

สรุปท้าย ขอร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้องโดยด่วน ถ้าไม่ดำเนินการโดยเร็วทางฝ่ายก๊อกอามี่ ไม่รับรองว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นบ้างและเหตุการณ์จะลุกลามมากไปกว่านี้

การดำเนินการเบื้องต้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉุกเฉิน การแก้ไขปัญหาระยะแคบต้องเร่งรัดอย่างมีประสิทธิภาพ เฉียบพลันดุดันและเด็ดขาด จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการในเบื้องต้นดังนี้ :

  • จัดการให้มีการรักษาความปลอดภัยสถานพยาบาลทุกหน่วย โรงงานผลิตอาวุธ โรงไฟฟ้า สถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ
  • สั่งปิดโรงเรียนในเขตเทศบาลทุกแห่ง
  • ตั้งจุดสกัด จุดตรวจ ด่าน ในทุกพื้นที่เข้มงวด
  • ควบคุมนักศึกษาพม่าในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย ไม่ให้ออกนอกศูนย์อย่างเด็ดขาด
  • จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วฉุกเฉิน
  • จัดชุดสื่อสาร
  • จัดชุดซ่อม/แก้ไขการสื่อสาร/ไฟฟ้า และประปา
  • จัดชุดดูแลเสบียงอาหาร
  • จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย
  • จัดชุดพยาบาลสนาม
  • จัดศูนย์แถลงข่าว
  • เตรียมโฆษกผู้แถลงข่าว
  • เตรียมไฟฟ้าสำรอง
  • จัดหน่วยซักถาม
  • ติดตั้งระบบสื่อสาร
  • จัดเตรียมห้องประชุมวางแผน
  • จัดหน่วยกู้ภัย/เจ้าหน้าที่กู้ภัย
  • ประสานหน่วยข้างเคียงทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และการประสานรายงาน

ร้องของแถลงข่าว
เวลประมาณ 13.00 น. พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นโฆษกศูน์อำนวยการร่วมฯ แถลงข่าวโดยสรุปข้อเรียกร้องของผู้ก่อการและแนวทางการดำเนินการของฝ่ายเรา หลังจากนั้นฝ่ายก่อการได้มีหนังสือเรียกร้องฉบับที่ 2 เพิ่มอีก 3 ข้อ คือ

  1. ขอให้นักข่าว เข้าไปทำข่าว
  2. แถลงการณ์ที่ให้ไปออกทีวีทุกช่อง
  3. ขอแพทย์ พยาบาลด่วน

เริ่มปล่อยตัวประกัน
14.00 น.ผู้ก่อการได้ปล่อยตัวประกันออกมาประมาณ 30 คน เป็นเด็ก ผู้หญิงสูงอายุ เพื่อแลกกับอาหาร ใช่วงนี้ได้มีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่บางคน ได้หลบหนีออกมาด้วย ซึ่งฝ่ายบรรเทาสาธารณภัย ได้นำผู้ป่วยส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก

ในช่วงนี้จะมีการรายงานข่าวให้หน่วยเหนือทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

การเจรจาต่อรองยังมีไปต่อเนื่อง เช่นกัน โดยผลัดเปลี่นหมุนเวียนกันไปมีทั้งชายและหญิง

กลุ่มผู้ก่อการของร้องให้ทุกคนถอยห่างรัศมีโรงพยาบาล 300 เมตร

ผู้ก่อการได้ร้องขออาหาร 15 กล่อง(ไม่มีหมู) ขอบุหรี่ 10 ซอง ขอวิทยุมือถือ ยี่ห้อ ไอคอม รุ่น 2 จี 3 เครื่อง ขอพบนาย ซอ โต โต กะเหรี่ยงที่พักอยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย และขอพบ นายสะ แค กลุ่มก๊อดอามี่ ที่ทหารไทยจับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา

จังหวัดได้อนุญาตให้นำตัว นายซอ โต โต จากศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอยมาพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนไทย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ซักถามนายซอ โต โต ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับนายซอ โต โต

แท้จริงนายซอ โต โต เคยเป็นสมาชิกกองกำลังก๊อดอามี่ แต่ถูกขับไล่ออกมาเพราะมีปัญหาขัดแย้งกัน ตอนหลัง นายซอ โต โต กลับใจวางมือจากการสู้รบ อยากไปตั้งถิ่นฐานประเทศที่สาม จึงขอเข้ารายงานตับกับ UNHCR อยู่ในศูนย์นักศึกษาพม่ามณีลอย รอการเดินทางไปประเทศที่สาม

สืบสภาพ
เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเริ่มสืบสภาพทั้งภายนอกและภายในโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี โดยพลางตนปะปนไปกับเจ้าหน้าที่ ประชาชน และผู้ป่วย ใช่วงที่มีการเจรจาและปล่อยตัวประกัน อาคารทุกแห่งในโรงพยาบาล มุมอับ มุมแคบ ผังอาคาร สถานที่ แบบแปลนการก่อสร้างนำมาใช้การอีกครั้งหนึ่ง ชุดปฏิบัติการอยู่ ณ จุดที่กำหนด หารายละเอียดให้มากที่สุดก่อนจะนำมาประมวลเป็นแผนการปฏิบัติการ หากยังยืดเยื้อต่อไป และโอกาสอำนวย

พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี หัวหน้าชุดเจรจาต่อรอง และคุณเอกพงศ์ หริมเจริญ เจ้าหน้าที่เจรจาต่อรอง จากสภาความมั่นคงดูจะมีงานหนักต้องวิ่งรอกจากโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี กับศูนย์อำนวยการข่าวร่วมฯ ทีมเจรจาต่อรองถูกฝึกอบรมมาอย่างดีเยี่ยม คุมอารมณ์ได้ดี นุ่มนวล แนบเนียน ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ใช้น้ำเย็นคอยลูบไล้ ไล่ความร้อนคู่อริ ให้จางลงไว้ใจและตายใจ

ในขณะที่ศูนย์ปฎิบัติการหลากหลายที่นำกำลังเข้าสมทบ เคลื่อนพลเข้าพื้นที่เป้าหมายอย่างสงบเงียบนิ่ง สงัดจนหนาว

การแลกเปลี่ยนอาหารกับตัวประกัน การนำอาหารเข้าไปส่งโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรานำเข้าไปภายใต้ความยินยอมของฝ่ายก่อการ เป็นเสี้ยววินาทีที่มีค่า ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขสถานการณ์ และต่อชาติ

16.00 น. มีคนไข้และเจ้าหน้าที่ หนีออกมาได้อีกประมาณ 50 คน โดยออกมาที่ช่องทางหนีไฟ และด้านหลังโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยได้นำรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแม่และเด็กต่อไป

ระบบโทรศัพท์ในโรงพยาบาลถูกตัดขาด การเจรจาต่อรองหยุดชะงักไประยะหนึ่ง สุดท้ายฝ่ายต่อรองต้องเข้าไปใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในของโรงพยาบาลที่ศาลาเอนกประสงค์ การเจาจาจึงลื่นไหลต่อไป

ยิ่งเย็นอากาศเริ่มแปรปรวน อบอ้าวมาทั้งวัน ความเครียดไม่ปราณีใครทุกคนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายก่อการและฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของไทยต้องเคร่งเครียด ต้องคุมเชิงเดินเกมอย่างสุขุม

ใกล้ค่ำสถานการณ์เริ่มเปลี่นแปลง ผู้ก่อการร้ายขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ เพื่อนำคณะผู้ก่อการร้ายไปส่งชายแดน เมื่อฝ่ายเจรจาซักถามให้ไปส่งที่ใด ผู้ก่อการร้ายตอบไม่ได้ สับสน กังวล ไม่แน่ใจในความปลอดภัย ตอบเพียงว่าขอให้ไปส่งแนวชายแดนพืนที่ของกะเหรี่ยงก๊อดอามี่

การต่อร้องให้ใช้รถยนต์ไปแทน จึงไม่มีข้อยุติ

รบกับสื่อ
งานอย่างนี้มีหรือสื่อมวลชนจะพลาด ทุกสื่อเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชิดจนลมหายใจรดต้นคอ ได้กลิ่นเหงื่อและสัมพันธ์ลมหายใยซึ่งกันและกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกต่อว่าจนหน้าจ๋อยไปตามๆ กัน ให้ สห.เข้าไปสู้ก็ถอยกลับมาตามเคย ดูคล้ายกับว่า พวกคุณเธอเหล่านี้จะไปดำเนินการแก้ไขปัญหาซะเองเช่นนั้น ไปทางไหนมีแต่สื่อมวลลชน ดูเกะกะไปหมด ทั้งๆ ที่เตือนหลายครั้ง ผู้ก่อการแจ้งออกมาให้ออกจากรัศมีพื้นที่เป้าหมาย 300 เมตร ก็ยังไม่ฟัง บางคนสอดแทรกตัวเข้าไปภายในโรงพยาบาลจนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกมา มีการต่อว่ากันนิดหน่อย เขาคิดอย่างสื่อคิด ในขณะที่คนทำงานเขาคิดอย่างคนทำงานคิด ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนที่เป็นตัวประกัน ชื่อเสียงของประเทศและความเป็นชาติ ขณะที่สื่อต้องการ ภาพ ต้องการความจริงนำเสนอเผยแพร่ให้เร็วที่สุดชิงไหวชิงพริบกัน

สื่อที่สำคัญ คือ ทีวี มีรายงานภาพเหตุการณ์ทุกระยะ คนในโรงพยาบาลก็ดู คนภายนอกก็ดู มีตอนหนึ่งที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ก่อการ คนที่ถูกกักเป็นตัวประกันได้มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า พอได้ยินดังนั้น เขาเห็นนายปรีดา น้ำตาคลอ และร้องไห้ พูดขึ้นมาลอยๆ ว่า "คราวนี้เห็นทีจะไม่รอด"

18.30 น.ผู้ก่อการย้ายระเบิดเคโมจากประตูหน้าโรงพยาบาลไปอยู่ด้านในโรงพยาบาลและขอเสาวิทยุ การเจรจาต่อรองยังคงดำเนินต่อไป

19.00 น.ความมืดคือภัยร้ายที่น่ากลัว กำลังคืบคลานเข้ามา ทุกอย่างยังนิ่งสงบ อากาศเย็นลง ใจคนทำงานไม่ได้เย็นลงเลย คณะต่อรองยังคงทำงานหนักกันต่อไป มีข้อเสนอเพื่อให้ผู้ก่อการมอบตัวเพื่อขึ้นศาลไทย และอาจลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่ไม่มีการตอบรับ ไม่มีข้อยุติ

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร.และข้าราชการนายทหารระดับผู้ใหญ่ ได้มาตั้งกองบัญชาการสั่งการที่กรมการทหารช่าง ทั้งหมดได้หารือกันอย่างเคร่งครัด ดึกสงัดก่อนเดินทางกลับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายยุติปัญหาให้เสร็จในคืนนั้นให้ได้ อย่าให้ยืดเยื้อถึงรุ่งเช้าเด็ดขาด

ห้วงนั้นมีเฮลิคอปเตอร์บินผ่านมา ผู้ก่อการคงคิดว่าทางการไทยจะยอมให้เฮลิคอปเตอร์นำส่งชายแดน จึงไม่ยอมมอบตัว แท้จริงเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่บินมาส่ง ฯพณฯ รอง นรม. และ รมว.มท. ผบ.ตร. และ ผบ.ทบ.

21.30 น.เศษ ผู้ก่อการร้องขออยากกลับบ้าน ขอวิทยุไอคอม รุ่น 725 ด่วน ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวออกมาอีกชุดหนึ่ง ผู้ที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดในการรับตัวประกัน กลับมารายงานว่า ผู้ก่อการร้ายเริ่มอ่อนล้า พูดจาวกวน

23.30 น.ผู้ก่อการของดเจรจาจะพักผ่อน
ความดึกสงัดแห่งรติกาล ลมหนาวเย็นยังคงโชยแผ่วเบา คนไข้หลายคนหลับด้วยอ่อนเพลีย นักรบผู้มาเยือนบางคนพักผ่อน บางคนเฝ้าระวังภัย ผู้อยู่ภายนอกอาคารโรงพยาบาลยังเฝ้ารอ ความสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก เครือญาติ ความห่วงหาอาทรในยามวิกฤต เช่นนี้ มีให้เต็มกระแสแห่งน้ำใจ สายใยใดเลยจะเหนียวแน่นไปกว่าสายใยแห่งความรัก ความผูกพันธ์ ลูกรอแม่..แม่รอลูก..ที่เป็นพยาบาลติดเป็นตัวประกันอยู่กับก๊อดอามี่ ความกระวนกระวาย ใจที่รุ่มร้อนกังวล น้ำตาหยดเป็นระยะ คงรอ และรอต่อไป

ผ่านพ้นถึงวันใหม่ 01.30 น. วันที่ 25 มกราคม 2543 ผู้ก่อการร้องขอเครื่องดื่มโค๊ก เป็บซี่ 20 กระป๋อง ขอเฮลิคอปเตอร์กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ได้นำวิทยุไอคอมไปส่งให้ แต่การติดต่อที่หมายไม่ได้ผล ผู้ก่อการมีลักษณะวิตกกังวลมากขึ้น

คนป่วยหลายรายที่ต้องการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน เด็กชายต้องผ่าตัดสมอง หญิงจะคลอดบุตร ผู้ป่วยสำคัญถูกลำเลียงส่งออกมาจากโณงพยาบาลศูนย์ราชบุรี แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลข้างเคียงเพื่อรักษาพยาบาลโดยด่วน ขณะที่มีผู้ป่วยอีกหลายคนยังคงนอนซม

นอนซมด้วยพิษไข้ยังพอทน แต่ต้องนั่งเบิกตาด้วยจิตใจที่ไม่ปกติ กลัวภัยตระหนกถึงเหตุร้าย ใจจะขาดตายเสียเดี๋ยวนั้นให้ได้ แล้วใครจะปิดเปลืกตาลงได้สนิท ณ เวลานั้น

ผู้สูงอายุบางคนบอกว่า ผู้ก่อการนั้นเขาดีนะ สุภาพ มีสัมมาคารวะ "เขายังป้อนข้าวให้ยายเลย" เขาบอกว่า ยายอย่ากลัวนะ ผมไม่ทำอะไรหรอก พวกผมเดือดร้อนมากจึงต้องทำอย่างนี้ คนชื่อหนุ่ย บอกยายว่าอย่างนั้น บรรดาแม่ยกทั้งหลายแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ก่อการ "สงสารเขานะ แต่เขาไม่น่าจะทำอย่างนี้"

พลซุ่มยิงทุกชุด ถูกสั่งเตรียมพร้อม รอรับคำสั่งปฏิบัติการ ศูนย์อำนวยการเหตุการณ์ยังสาละวันกับการสื่อสารและรายงาน การเจรจาต่อรองอืดอาดประวิงเวลา สาระลดลง ผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการบัญชาการเหตุการณ์แยกตัวไปประชุมลับเฉพาะ และพบปะมอบภาระกิจให้กำลังใจ นักรบไทยที่จะจู่โจมชิงตัวประกัน

วันกองทัพไทย
25 มกราคม วันกองทัพไทย ทุกปีมีการเดินสวนสนามประกาศความยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราช ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญ นักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะสมรภูมิที่สู้รบกับพม่า พระองค์ประสบชัยชนะอย่างสง่างามและเด็ดขาด

ณ เวลานี้ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีถูกกะเหรี่ยง ก๊อดอามี่แห่งประเทศพม่ายึด อะไรจะเกิดขึ้นกับวันกองทัพไทย เสียงที่เปล่งสดุดีจะแหบพล่า การเดินสวนสนามจะฮึกเหิมได้อย่างไร หากสถานการณ์ยังคลุมเครือเช่นนี้

ผบ.ทบ.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุกสนามรบ ยอมไม่ได้เด็ดขาด ชาติอยู่เหนืออื่นใด จะปล่อยให้ก๊อดอามี่กองกำลังกะเหรี่ยงลูบคมหยามศักดิ์ศรีทหารไทย คนไทย สองครั้งสองคราได้อย่างไร (ครั้งหนึ่งเมื่อ 1 ต.ค.2542 ยึดสถานฑูตพม่าในไทย)

แผนเผด็จศึกถูกจัดวางอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้าเลยเพียงแต่กำชับให้ทุกหน่วยต้องพร้อมปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งเท่านั้น

พร้อมปฏิบัติได้เมื่อสั่ง เพียงคำนี้ทุกหน่วยรบรู้เองว่าจะปฏิบัติอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป การซักซ้อม ประสานการปฏิบัติหน่วยต่อหน่วย ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำซาก กำหนดทิศทางต้องลงตัวเสมอ ผิดแม้แต่องศาเดียวหมายถึง ชีวิตตัวประกัน ชีวิตตนเอง ชื่อเสียงประเทศชาติ เกียรติภูมินักรบไทย

มดดำ
ที่หมาย 03.00 น.
ทุกอย่างลงตัว การคืบคลานเข้าสู่เป้าหมายเริ่มขึ้น สงบเงียบ หนาว สะดุดบางครั้ง ราบรื่นบางคราว ลัดเลาะตามหลืบแหล่งม่านมืดเข้าไป ตัวเล็และลีบหลบซ่อนคืบคลานบนหังคา กันสาด ฝูงมดดำ ไต่ยั๊วเยี๊ยะ เงียบ สงัด

สุนัขกรรโชกข้างโรงพยาบาล ทุกคนสดุ้ง ผู้ก่อการระวังตัวแจ แม้จะออกมาดูรอบอาคารแล้ว ด้วยความอ่อนล้ามาทั้งวัน ก็ต้องการพักผ่อนเช่นปุถุชนธรรมดา

มดดำไม่ชอบเสียงสุนัขเห่า ถอยร่นมาตั้งหลักใหม่

03.30 น.ต้องราวีกับสื่อมวลชนอีกรอบ การขอร้องด้วยสุภาพ โดย พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ราชบุรี พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตันบุญเอก ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี พ.อ.ทวีวัฒน์ บูรณสิงห์ (เสธ.ตั้ม) แห่ง จทบ.ราชบุรี ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนทุกแขนงยอมถอยห่างจากรัศมีโรงพยาบาลตอนค่อนรุ่ง

คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วละ ค่อยว่ากันใหม่พรุ่งนี้นะ หลายคนอยากหลับซักงีบ นั่ง พิง นอน เหยียดแข้งเหยียดขาตามสบาย

บึ๊ม! บึ๊ม! เสียงสตั้นบอมส์ 2 ลูกซ้อน ดังสนั่นปลุกคนราชบุรี ทั้งจังหวัดให้ลุกหุงข้าวใส่บาตรพระในวันกองทัพไทย เพื่อจะได้อุทิศผลบุญกุศลให้นักรบผู้กล้าของไทย ที่เคยรบกับพม่าในสงครามเก้าทัพ และที่บ้านบางแก้ว จ.ราชบุรี สื่อมวลชนพุ่งตัวเข้าหาที่หมายขอภาพงามๆ ออกอวดสายตาชาวโลก ขอรางวัลภาพข่าวเด่นสักครั้งเถอะน่า

ทะลวงฟันสยบเหยื่อ
การจู่โจมปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อ 05.35 น.เสียงปืนรัวถี่ยิบ สตั้น บอมส์ ดังขั้นจังหวะ แผ่นดินสะเทือนไหว พระสยามเทวาธิราชเจ้าเอาใจช่วย หลายคนใจหาย จะเสียหายสักเท่าไร จะสูญเสียเลือดเนื้อเท่าใด ที่สำคัญ ตัวประกันต้องปลอดภัย

เสียงสั่งการของผู้บัญชาการหน่วยจู่โจมดังติดต่อไม่ขาดระยะ ไหลๆๆๆๆ...อย่าหยุด ต่อไปๆๆๆ

คาวเลือด น้ำตา เสียงกรี๊ดร้องด้วยตระหนก ผสมเสียงคำรามของมัจจุราชจากปลายกระบอกปืน เสียงขู่กรรโชกอย่างโหดร้ายของสตั้น บอมส์ ระเบิดเสียงกระชากจืตใจที่อ่อนบางของผู้คนให้หวาดหวิว

คนป่วย คนชรา เด็ก หญิง ผู้อ่อนแอ เสียงอาวุธสงครามดังก้องทั่วราชบุรี กังวานไปอีกนานนับนานไม่มีวันจางหาย

06.15 น. เสียงปืนนัดสุดท้ายสิ้นลง จบด้วยสตั้นบอมส์สั่งลา เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นค้นหาผู้จะหลบหนี โฉบเฉี่ยวดุจพญาเหยี่ยวโฉบเหยื่อหลายต่อหลายรอบแล้วลงสงบนิ่ง

07.00 น. พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แถลงข่าวปิดสถานการณ์ ผู้ก่อการร้าย 10 คน ถูกสังหารจบชีวิตทั้งหมด เป็นของขวัญวันกองทัพไทย ตัวประกันทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเรามีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 8 นาย

ตรวจสมรภูมิ
หลังสิ้นเยงปืนและรับมอบพื้นที่จากฝ่าบปฏิบัติการจู่โจม ศูนย์อำนวยการแก้ไขเหตุการณ์แล้ว แพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีได้เข้าทำการรักษาพยาบาลผู้ป่วยประจำตึกต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยมีคณะแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาลจากอำเภอมนพื้นที่ราชบุรี และจังหวัดข้างเคียงให้การสนับสนุนในการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดด้วย

จากการตรวจพิสูจน์สถานที่ภายในโรงพยาบาลโดยรอบ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองพบความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากแรงอัดของระเบิด และคมกระสุนปืน กระจก ผนัง ประตู หน้าต่าง อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ เครื่องช่วยผู้ป่วย เครื่องำนวยความสะดวกญาติผู้ป่วย เป็นต้น ทุกอาคารเจ้าหน้าที่ได้ตรวจอย่างละเอียดเริ่มตั้งแต่ตึกกาญจนาภิเษก ซึ่งสูง 7 ชั้น ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี ตึกเอ็กซเรย์ ตึกเมตตาเรื่อยมาถึงตึกอำนวยการ ซึ่งเป็นศูนย์รวมเหตุการณ์แต่แรก

สิ่งที่พบเป็นหลักฐานเหลือไว้เป็นรูปธรรมให้เห็น

  1. ศพผู้ก่อการ จำนวน 10 ศพ
  2. ซองกระสุนปืน เอ็ม 16 จำนวน 8 ซอง
  3. ซองกระสุนปืนอาร์ก้า จำนวน 3 ซอง
  4. ซองกระสุนคาร์บิน จำนวน 1 ซอง
  5. อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 กระบอก
  6. อาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก
  7. อาวุธปืนอาร์ก้า จำนวน 2 กระบอก
  8. กระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 400 นัด
  9. กระสุนปืนอาร์ก้า จำนวน 300 นัด
  10. กระสุนปืนลูกซอง จำนวน 12 นัด
  11. ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67 จำนวน 8 ลูก
  12. ลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 8 ลูก
  13. ชนวนฝักแคพร้อมเชื้อประทุ จำนวน 7 เส้น
  14. ทุ่นระเบิดเอ็ม 18 เอ (เคโม) จำนวน 1 ทุน

นอกจากนั้น เป็นอุปกรณ์สนามที่ใช้ในสนามรบ เช่น กระติกสนาม เข็มขัดสนาม รองเท้าคอมแบท หมวก ชุดลายพราง แชลง กรรไกรตัดเหล็ก และเอกสาร ภาษากะเหรี่ยง พม่าอีกจำนวนหนึ่ง

หลังเหตุการณ์จังหวัดได้จัดทำแผนแม่กลองร่มเย็นรองรับการจัดตั้งศูนย์อำนวยการข่าวร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ประสานการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยทุก อำเภอ/กิ่งอำเภอ มีการจัดตั้งศูนย์รองรับในลักษณะเดียวกัน ระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้ง ตำรวจ ทหาร พลเรือน อาสาสมัคร อป.พร. มวลชนทุกประเภท ร่วมมือปฏิบัติให้แผนแม่กลองร่มเย็นบรรลุเป้าหมาย

รุ่นก๊อดอามี่
ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และคณะมาจับมือแสดงความยินดีกับ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ถึงผลสำเร็จในการปฏิบัติงานก่อนที่คณะทุกท่านจะเดินทางกลับท่ตั้งหน่วยปกติ ปิดสถานการณ์

บุคคลที่มีส่วนร่วมควรเรียกว่ารุ่น ก๊อดอามี่

  • นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี
  • พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฎฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก
  • พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พล.ท.ทวีป สุวรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 1
  • พล.ท.อาภรณ์ กุลพงษ์ เจ้ากรมการทหารช่าง
  • พล.ต.ท.อนันต์ เหมาทานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจภาค 7
  • นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เลขาธิการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ
  • พล.ต.สัญชัย รัชตะวรรณ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
  • นายโกเมศ แดงทองดี ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายเรืองบุญ สิริธรังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายปรีชา เรืองจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
  • นายเฟื่อง สังข์ปาน ปลัดจังหวัดราชบุรี
  • พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี
  • พ.อ.อมรเทพ ศศิวรรณพงษ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
  • น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี
  • น.พ.มงคล จิตวัฒนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
  • นายบัญชา พิมพ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทย จ.ราชบุรี
  • หัวหน้าส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ นักการเมือง พ่อค้า เอกชน
  • ประชาชนที่อยู่อาศัยในราชบุรี ปี 2543 ในวันที่เกิดเหตุการณ์ 24-25 มกราคม 2543 หากอยู่ในราชบุรีถือว่าทุกท่านเป็นคนราชบุรี รุ่นก๊อดอามี่ ทั้งหมดเลยดีมั๊ย

ก๊อดอามี่ส่งราชบุรีลอยลม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการโปรโมทจังหวัดราชบุรี โดยไม่ต้องเสียงบประมาณด้านประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เป็นการรับรู้ทั่วโลกในคราวเดียวกัน ราชบุรีจึงลอยลม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาไม่รู้เท่าไหร่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ต้องหางบประมาณซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท

สภาพจิตใจที่เป็นภาพหลอนตลอดชีวิตคิดประเมินไม่ได้ เศรษฐกิจที่พังย่อยยับไปกับเสียงปืนแตกที่ราชบุรี การท่องเที่ยวเหี่ยวแห้งตายสนิท เศรษฐกิจที่พังย่อยยับ สถานีผู้โดยสารเงียบเหงา ตลาดน้ำว่างเปล่า ถ้ำเขาช่องพรานเหลือแต่ค้างคาวไร้คนดู น้ำตกสวนผึ้งยังคงรอคนไปเยือน ราชินีตะวันตก ใกล้สิ้นชีพ

จังหวัดมีงานหนักต้องฟื้นฟู มือประสานสิบทิศ เช่น นายโกเมศ แดงทองดี ผู้เป็นเจ้าเมืองปลุกราชบุรีให้น่าภิรมย์อีกครั้ง โครงการต่างๆ พรั่งพรูจากสมอง แรลลี่สายน้ำไหลกลับรับวันวาเลนไทน์ที่ชายแดนอำเภอสวนผึ้ง วันนี้มีคำตอบ ผู้ว่า/ทหารพบชาวบ้านยามเย็น ปลอบขวัญประชาชนทุกคุ้มคามโดยเฉพาะแนวชายแดนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ทำบุญสะเดาะเคราะห์โรงพยาบาล โครงการแม่พิมพ์ร้อยใจต้านภัยก่อการร้ายก๊อดอามี่

งานเที่ยวราชบุรีปี 2000 ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.2543 ปลุกวิญญาณคนราชบุรีให้ลุกสู้ภัยก่อการร้ายก๊อดอามี่ได้อย่างเห็นผลชัดเจน ผู้คนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ต่างประเทศมาเที่ยวชมของดีเมืองราชบุรี เที่ยวราชบุรีปี 2000 อย่างอุ่นหนาจนเนืองแน่น ภาพลบกลับมาเสมอตัว และจะต้องเป็นบวกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

ขอบคุณก๊อดอามี่ ปลุกราชบุรีดังก้องโลก

ที่มา : ปรีชา เรืองจันทร์. (2543). ก๊อดอามี่ มณีลอย ปลุกราชบุรีเขย่าโลก. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.







วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คดีกอบกุลถึงทางตัน..ละครกำลังจะปิดฉาก


บทความนี้ เป็นเพียงบทวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีเจตนาที่จะให้ร้ายใคร ผู้อ่านต้องใช้วิจารญาณในการคิดวิเคราะห์เอง

วันนี้เป็นวันที่ 17 มิ.ย.49 ข้าพเจ้าเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับคดีสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี อีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นห้วงวันที่ 9-13 มิ.ย.49 ที่ประชาชนคนไทยถือว่าเป็นห้วงเวลามงคลในการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงของเรา จึงตั้งใจที่จะเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เป็นมงคลเอาไว้ก่อน บทความนี้กว่าข้าพเจ้าจะเขียนจบ ต้องใช้เวลาถึงวันที่ 24 มิ.ย.49 เป็นเวลาอาทิตย์หนึ่งเต็มๆ

หลังจากที่ได้โอนคดีสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุลฯ จากสำนักงานตำรวจภูธรภาค 7 ไปให้กองปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.49 ที่ผ่านมา เรื่องราวข่าวคราวความคืบหน้าของคดี ก็เงียบหายไปจากหน้า สื่อ และ น.ส.พ.เกือบหมด

ข้าพเจ้าลองมานั่งนึกลำดับเหตุการณ์ต่างๆ จากคดีการสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี เมื่อคืนวันที่เสาร์ที่ 27 พ.ค.49 ที่ผ่านมาอีกครั้งเพื่อทำการทบทวน โดยการลำดับเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าเขียนนี้ เป็นการอนุมานเอาเอง จากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ อาจผิดพลาดจากผลการสืบสวนของตำรวจไปบ้าง เนื่องจากข้อมูลบางอย่าง พนักงานสืบสวนไม่ได้เปิดเผยให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้รับทราบ

ข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญลักษณ์
xx.xx น. หมายถึง เวลาที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด (+/ -) หมายถึง เวลาที่อาจคาดเคลื่อนไปล่วงหน้าหรือย้อนหลัง

ข่าวลือก่อนที่จะถึงคืนวันสังหาร
-มีผู้ติดต่อนายจำรณหรือจำลอง อ่วมทอง กำนันเพชรบุรี และนายศุภฤกษ์ อ่วมทอง สองพ่อลูก เป็นมือปืนสังหาร อดีต ส.ส.กอบกลุฯ
-นายจำรณหรือจำลอง อ่วมทอง และบุตรชาย มาดูตัว ตัดสินใจไม่รับงาน เนื่องจากตนเองจะสังหารเฉพาะคนที่ไม่ดี แต่ ส.ส.กอบกุลฯ เป็นคนดีและเป็นผู้หญิง จึงเป็นเพียงผู้หาปืน M16 ที่ใช้สังหารให้
-นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) จึงรับเป็นมือปืนสังหารเอง โดยชักชวนนายอานนท์ พันรัตน์ (เอ็ม) เข้าร่วมด้วยอีกคน
-นายต่ายพานายเอ็ม ไปฝึกซ้อมยิงปืน M16 ที่บริเวณสวนป่าอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯ หมู่ 3 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จำนวน 3 ครั้งก่อนลงมือ โดยนายต่ายเป็นผู้สอน

วันศุกร์ที่ 2ุ6 พ.ค.49
-ประชุมและซักซ้อมแผนสังหาร ส.ส.กอบกุล ณ ที่ทำงานของนายอนันตศักดิ์ ฯ ในตลาดศรีเมือง

วันเสาร์ที่ 27 พ.ค.49
-15.00 น. (+/ -) นายอานนท์ พันรัตน์ (เอ็ม) เอาปืน M16 จากท้ายรถ BMW ของนายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) ที่จอดอยู่ ณ ที่ทำงานในตลาดศรีเมือง ไปซ่อนไว้ที่บ้านของตัวเอง เลขที่ 109/4 หมู่ 4 ต.หลุมดิน อ.เมืองราชบุรี (ไม่ระบุว่าใช้รถของใคร) (บางข่าวบอกว่าเป็นวันศุกร์ที่ 26 พ.ค.49 )
-xx.xx น. ส.ส.กอบกุลฯ ไปร่วมงาน แถว ต.คุ้งกระถิน
-xx.xx น. นายอานนท์ พันรัตน์ (เอ็ม) โทรศัพท์ให้ นายวิญญู รัตนวรรณ (เลิฟ) ขับรถตัวเองมารับที่ตลาดศรีเมือง จากนั้น ทั้งคู่เดินทางไปยังบ้านของนายเอ็ม เพื่อเอาปืน M16 ที่ซ่อนไว้ บรรทุกขึ้นรถ และทำการปิดป้ายทะเบียนปลอมที่จัดเตรียมเอาไว้
-xx.xx น.(+) นายชยสิทธิ์ ธีระวรวงศ์ (เก้า) ขับรถตนเองพา นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) จากตลาดศรีเมือง ไปส่งที่บ้านของ นายเอ็ม ที่หลุมดิน เพื่อเตรียมก่อเหตุ หลังจากส่งแล้วนายเก้าก็ขับรถกลับไป
-xx.xx น.(+) นายเลิฟ นายเอ็ม และนายต่าย ขับรถมาดักรอ ส.ส.กอบกุลฯ ที่บริเวณหน้าวัดราชสิงขร
-19.00 น. ส.ส.กอบกุลฯ เดินทางไปถึงงานบวช ที่ หมู่ 14 ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
-19.30 น. (-) นายสงัด พุ่มเพ็ง (สารวัตรเปี๊ยก) โทรศัพท์แจ้งทีมสังหารที่รออยู่หน้าวัดราชสิงขร ว่า อดีต ส.ส.กอบกุลฯ กำลังจะออกจากงานบวช (โดยใช้รหัสเรียก ส.ส.กอบกุลฯ ว่า "สาวน้อย" ) กลุ่มทีมสังหาร จึงขับรถล่วงหน้าออกมาจอดรถ ดักซุ่มรอสังหาร อยู่บริเวณหน้าวัดอรัญญิกาวาส (ถนนเขางูสายเก่า)
-19.30 น.(+) ส.ส.กอบกุลฯ เดินทางออกจากงานบวช ตามเส้นทางสายเก่า เพื่อจะไปงานที่วัดโพธิ์ราษฏร์บูรณะ
-xx.xx น.(+) ระหว่างทาง ส.ส.กอบกุลฯ โทรหา เลขาฯ สอบถามเรื่อง งานที่วัดโพธิ์ราษฎร์บูรณะ เลขาฯ แจ้งว่ากำลังอยู่ในพิธีการบนเวทีแล้ว ส.ส.กอบกุล จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผน เดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ ศาลารวมใจ เทศบาลเมืองราชบุรี แทน
-20.00 น.(+) รถ ส.ส.กอบกุลฯ เดินทางผ่านวัดอรัญญิกาวาส กลุ่มทีมสังหาร ขับรถตามหลัง
-20.15 น.(+/ -) รถ ของ ส.ส.กอบกุลฯ ติดไฟแดงบริเวณสี่แยกเขางู ในเลนส์ที่เตรียมจะตรงเข้าเมืองราชบุรี กลุ่มทีมสังหาร ขับรถแซงขึ้นมาจอดทางด้านขวา โดยมี นายเลิฟ เป็นคนขับ คนลั่นกระสุนปืน เอ็ม16 สังหาร คือ นายต่าย ใช้อาวุธปืนเอ็ม16 พานท้ายพับได้ และนายเอ็ม ใช้อาวุธปืนเอ็ม16 กระบอกยาว นั่งยิงจากกระบะท้าย สังหาร ส.ส.กอบกุลฯ เสียชีวิตคาที่ คนขับบาดเจ็บสาหัส ตำรวจติดตามบาดเจ็บเล็กน้อย
-20.20 น.(+) หลังจากสังหารแล้ว กลุ่มมือปืนทั้งหมดขับรถเลี้ยวขวา เข้าถนนเพชรเกษม ไปเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองราชบุรี ตรงสี่แยกเจดีย์หัก มุ่งหน้าเข้าไปในบริเวณตลาดศรีเมือง แล้วซ่อนปืน M16 ไว้ในกองไม้ที่เก็บขยะอาคาร 7 ทำงานตามปกติ
-20.20 น.(+) ตำรวจติดตามและผู้เห็นเหตุการณ์ช่วยกันนำร่าง อดีต ส.ส.กอบกุล นพอมรบดี และคนขับ ส่ง รพ.เมืองราช
-20.30 น.(+) นายเลิฟ ขับรถที่ใช้ก่อเหตุ มุ่งหน้าเข้า กทม. และนำรถไปฝากญาติที่ พุทธมณฑล ส่วนตัวเองแอบไปพักอยู่แฟลตของตำรวจ
-21.00 น.(-) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ
-21.00 น. (+) ผู้คนที่ทราบข่าว ต่างเริ่มทยอยเดินทางมายัง รพ.เมืองราช ข่าวโทรทัศน์เกือบทุกช่องรายงานข่าวด่วน การสังหาร ส.ส.กอบกุล

วันอาทิตย์ที่ 28 พ.ค.49
-02.00 น. (+/ -) นายต่ายฯ โทรศัพท์ให้ นายวันชนะ ศุภชัยศิริเรือง (วัน) มาหาเพื่อให้นายวันขับรถพาตนเองและนายเอ็ม เอาปืน M16 ไปทิ้ง นายต่ายและนายเอ็มขึ้นรถนายวัน นำปืนไปทิ้ง โดยเดิมใช้เส้นทางมุ่งหน้าตรงยังทาง อ.สวนผึ้ง แต่พอถึงบริเวณวัดห้วยไผ่ เกิดเปลี่ยนใจย้อนขับกลับมาทิ้งในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณวัดใหม่ชำนาญ ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม โดยนายเอ็มฯ เป็นผู้ทิ้งปืนเองทั้ง 2 กระบอก
-03.00 น.(+/-) หลังจากทิ้งปืนเสร็จแล้ว นายต่าย นายเอ็ม และนายวัน เดินทางกลับมา ทำงานที่ตลาดศรีเมือง ตามปกติ
-10.00 น. เคลื่อนย้ายศพ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ ไปที่บ้าน ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี
-12.00 น. (+/-) วิญญาณ ของ ส.ส.กอบกุลฯ มาเข้าร่างสตรีอาสาสมัครคนหนึ่งที่มาร่วมงาน (ขอสงวนนาม) บอกผ่านร่างทรงว่า "ผู้จ่ายเงินมือปืน เป็นผู้หญิงที่ชอบใส่เพชร ใส่พลอย และวันนี้จะมางานด้วย ส่วนผู้บงการเป็นผู้ชาย และหากอยากรู้ว่าใคร ให้ไปดูสมุดบันทึกส่วนตัวที่บันทึกเอาไว้ วางอยู่ในสำนักงานฯ" หลังจากนั้นตำรวจก็ขอสมุดบันทึกไป
-14.00 น. พิธีรดน้ำศพ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ ที่บ้าน ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี
-เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มสืบสวนสอบสวน หาเบาะแส และพยานหลักฐาน

วันจันทร์ที่ 29 พ.ค.49
-11.00 น. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เจ้าของตลาดศรีเมือง แถลงข่าวว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
-ตลอดวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน หาเบาะแส และพยานหลักฐาน (ต่อ)

วันอังคารที่ 30 พ.ค.49
-เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน หาเบาะแสและหลักฐานเพิ่มเติม
-23.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกจับ นายเอ็ม ขณะอยู่ที่โต๊ะสนุกในตลาดศรีเมือง พร้อมพวก นำตัวไปสอบสวนที่ สภอ.เมืองราชบุรี หลังจากสอบปากคำ นายเอ็ม สารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า "เป็นคนขับรถในคืนนั้น โดยมี นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) นั่งคุมอยู่เบาะหลัง นายจำรณหรือจำลอง อ่วมทอง กำนันเพชรบุรี และนายศุภฤกษ์ อ่วมทอง สองพ่อลูกเป็นมือปืนสังหาร และนายสงัด พุ่มเพ็ง (สารวัตรเปี๊ยก) เป็นชี้เป้าแจ้งความเคลื่อนไหวของ ส.ส.กอบกุลฯ เสร็จแล้วนำอาวุธปืนที่ยิงไปทิ้งบริเวณหน้าวัดใหม่ชำนาญ ต.เจ็ดเสมียน"

วันพุธที่ 31 พ.ค.49
-03.00 น. (+/ -) นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) นำพนักงานและ พ่อค้า แม่ค้าตลาดศรีเมืองประมาณ 200 คน มาชุมนุมที่หน้า สภอ.เมืองราชบุรี ประท้วงการกระทำของตำรวจ ที่จับนายเอ็ม กลัวนายเอ็มจะเป็นแพะ จนใกล้เช้าก็แยกย้ายกันกลับไป
-10.00 น. (-) ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุลฯ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ราชบุรีเขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งของ ส.ส.กอบกุลฯ แถลงข่าวว่าไม่เกี่ยวข้อง
-10.00 น. (-) พบนายสงัด พุ่มเพ็ง (สารวัตรเปี๊ยก) กินยาฆ่าตัวตาย ที่บ้านของ นายพงศ์พัฒน์ นาคหนู (เภา) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 111 หมู่ 7 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้เขียนข้อความลาตายเอาไว้ สรุปสาระได้ว่า "การสังหาร นางกอบกุล ในครั้งนี้ เขาเป็นคนทำเองคนเดียว เนื่องจากแต่ก่อน เขาเคยช่วยเหลือนางกอบกุลฯ แต่นางกอบกุลกลับหักหลังเขา และด่าว่าเขา ฝากขอโทษถึง นายนภินทรฯ เจ้าของตลาดศรีเมืองด้วย ที่เขาทำอะไรแล้วไม่บอก"
-14.00 น. (+) นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ และนำมาฝากขังที่ สภอ.เมืองราชบุรี นายต่ายปิดปากสนิท ไม่รับสารภาพใดๆ ?ช่วงบ่าย (ไม่ทราบเวลา) นายจำรณหรือจำลอง อ่วมทอง มือสังหาร ถูกจับได้ที่เพชรบุรี และนายศุภฤกษ์ อ่วมทอง บุตรชาย มือสังหาร ถูกจับได้ที่ตลาดมหาชัย สมุทรสาคร

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.49
-08.30 น. (+/-) นักประดาน้ำเริ่มงมหาอาวุธปืน M16 ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณสะพานหน้าวัดใหม่ชำนาญ ต.เจ็ดเสมียน
-23.00 น. (+) ชุดดำน้ำพบอาวุธปืน M16 จำนวน 1 กระบอก และแมกกาซีนบรรจุกระสุนเต็มจำนวน 20 นัด

วันศุกร์ที่ 2 มิ.ย.49
-14.00 น. (+) นายจำรณหรือจำลอง อ่วมทอง และนายศุภฤกษ์ อ่วมทอง บุตรชาย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือสังหาร ได้รับการประกันตัว เนื่องจากในคืนเกิดเหตุมีหลักฐานยืนยันที่อยู่แน่นอน ว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือสังหาร
-14.00 น. (+) นายเอ็มกลับคำให้การว่า "นายเลิฟ เป็นคนขับรถ ตนเองและนายต่าย เป็นผู้ลั่นกระสุนลงมือสังหาร"
-ตลอดวัน นักประดาน้ำยังพยายามงมหาอาวุธปืน M16 ที่เหลืออีก 1 กระบอก

วันเสาร์ที่ 3 มิ.ย.49
-ช่วงเช้า จับตัวนายวิญญู รัตนวรรณ (เลิฟ) คนขับรถได้ที่ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
-10.00 น. ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงในสี่แยกนิสสัน ริมถนนเพชรเกษม ต.หลุม ดิน อ.เมือง จ.ราชบุรี พร้อมใจกันนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป มาสวดทำบุญพร้อมทั้งถวายอาหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ เนื่องจากตั้งแต่เกิดเหตุ มีชาวบ้านเห็นผู้หญิงสวมชุดสีแดงมายืนในบริเวณเกิดเหตุเกือบทุกคืน?ตลอดวัน นักประดาน้ำยังพยายามงมหาอาวุธปืน M16 ที่เหลืออีก 1 กระบอก

วันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย.49
-08.00 น. ซ้อมทำแผนสังหาร โดยมีเพียงเฉพาะนายเอ็มและนายเลิฟ?ตลอดวัน นักประดาน้ำยังพยายามงมหาอาวุธปืน M16 ที่เหลืออีก 1 กระบอก

วันจันทร์ที่ 5 มิ.ย.49
-พล.ต.ต นพ.สมยศ ดีมาก โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ แถลงผลตรวจพิสูจน์ศพนายสงัด พุ่มเพ็ง หรือเปี๊ยก 1 ในผู้ต้องหาคดีสังหารนางกอบกุล นพอมรบดี เปิดเผยว่า ตามร่างกายของผู้ตายไม่พบร่องรอยการต่อสู้ มีเพียงบาดแผลฟกช้ำเล็กน้อย ที่บริเวณหลังมือและข้อมือด้านซ้าย ภายในช่องปากและใบหน้าก็ไม่พบบาดแผล โดยพบของเหลวสีเขียวในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ส่วนต้น จำนวน 500 ซีซี ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นสารออร์กานิคไนโตรเจน หรือเเลนเนท ซึ่งระบุได้ว่าเป็นยาฆ่าแมลง แต่ไม่พบสารแอลกอฮอล์หรือยานอนหลับรวมอยู่ในกระเพาะอาหารแต่อย่างใด เบื้องต้นทีมแพทย์เชื่อว่า ผู้ตาย น่าจะกินยาฆ่าแมลงฆ่าตัวตายเอง ไม่ได้ถูกจับกรอกใส่ปากเพื่อฆ่าตัดตอนตามที่มีการตั้งข้อสังเกต อย่างไรก็ตามแพทย์ยังไม่ตัดประเด็นการฆาตกรรมทิ้ง โดยได้ตัดเล็บเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อผู้อื่นที่ติดอยู่ปลายเล็บตรวจพิสูจน์อีกทาง เพื่อให้ผลออกมาแน่ชัดที่สุด
-19.30 น. พิธีสวดพระอภิธรรม และบรรจุศพ อดีต ส.ส.กอบกุล?ตลอดวัน นักประดาน้ำยังพยายามงมหาอาวุธปืน M16 ที่เหลืออีก 1 กระบอก ยังไม่พบ จนถึงเย็นจึงยุติการงม

วันอังคารที่ 6 มิ.ย.49
-โอนสำนวนคดีทั้งหมดให้กองปราบปราม

คำให้สัมภาษณ์ คำพูด และบทความ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข่าวลือ ที่น่าสนใจ

-นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (28 พ.ค.49) ซึ่งได้เดินทางไปดูที่เกิดเหตุตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุ กล่าวว่า ตำรวจต้องรีบทำคดีนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า สาเหตุการสังหารอดีต ส.ส.ราชบุรี น่าจะเป็นเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา ที่นางกอบกุลส่ง นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ น้องชาย ลงสมัครจนได้รับเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าจะไปท้าทาย หรือแตกหักกับใคร ส่วนประเด็นการจะเปิดตลาดกลางการเกษตรแข่งขันกับตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของราชบุรี ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะการแข่งขันกันไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งตำรวจก็ให้น้ำหนักเช่นกัน"

-วันที่ 29 พ.ค. 2549 นางพิมพา จันทร์ประสงค์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ถึงกับร้องไห้ด้วยความเสียใจในระหว่างแถลงข่าว พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือตลอดเวลา ว่า ตนเองและนางกอบกุลมีความสนิทสนมกันมาก เพราะร่วมงานกันมานาน มีอะไรก็จะเล่าสู่กันฟังเสมอ โดยช่วงก่อนยุบสภา ตนและนางกอบกุลได้ขึ้นไปดูงานที่ จ.เชียงใหม่ด้วยกัน และนางกอบกุล ได้เล่าให้ตนฟังว่า มีคนขู่จะฆ่าตัวเองและครอบครัว และนางกอบกุลก็ได้บอกกับสามีให้ระวังตัว แต่เขาก็ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า ใครเป็นคนขู่และสาเหตุมาจากเรื่องอะไร

-พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตันบุญเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เมื่อ 31 พ.ค.49 “สาเหตุนั้น คาดว่า ผู้ต้องหารายนี้อาจจะเกิดความเครียด เมื่อเพื่อนร่วมขบวนการถูกจับหมด จึงกลัวและคิดกินยาฆ่าตัวตายหนีความผิด โดยขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบตัวทีมฆ่าได้หมดทุกคนแล้ว และจะสอบสวนขยายผลหาตัวผู้บงการใหญ่ต่อไป”

-นางละเอียด บุญเกตุ อายุ 48 ปี ภรรยานายสงัดฯ กล่าวว่า ข้อความข้างตู้ที่เขียนไว้ก่อนตายนั้นยืนยันว่าเป็นลายมือของสามีจริง

-นายณรงค์ พุ่มเพ็ง อายุ 23 ปี ลูกชายนายสงัด รู้สึกสลดหดหู่มากไม่เชื่อว่าพ่อจะกินยาฆ่าตัวตาย เชื่อว่าพ่อต้องถูกฆ่าตัดตอน....ส่วนลายมือที่บอกว่าเป็นลายมือของพ่อนั้นยังไม่เห็น แต่ถ้าเห็นจะจำลายมือพ่อได้ว่าใช่หรือไม่

-นางอนุ พุ่มเพ็ง อายุ 27 ปี ลูกสาวของนายสงัดฯ เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวว่าบิดาเสียชีวิต จากการกินยาฆ่าแมลง รู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก ซึ่งตามปกติแล้วบิดาจะเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัว และเมื่อรู้ว่าบิดาเสียชีวิต ยิ่งไม่อยากเชื่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา บิดามักจะสั่งสอนเสมอว่า ให้ลูกทุกคนมีความเข็มแข็งและให้ลูกๆ มีความอดทนในทุกๆสถานการณ์ "ที่ผ่านมาพ่อมักจะสอนว่า คนที่ฆ่าตัวตาย เป็นคนที่เสียชาติเกิด และพ่อก็มักจะบอกเสมอว่า ถ้าลูกคิดฆ่าตัวตาย พ่อก็จะเป็นคนฆ่าให้ตายด้วยน้ำมือของตัวเอง" ส่วนเรื่องคดีที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา พ่อไม่เคยเล่าให้รับรู้เลย สำหรับ นายเภา นาคหนู ถือว่ามีความสนิทสนมกับบิดาก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ตนเองก็ไม่ทราบว่า มีความสนิทถึงขนาดไหน...อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนอยากเห็นจดหมายที่พ่อเขียนเอาไว้ก่อนตาย เพราะทราบดีและจำได้แม่นว่า ลายมือของบิดานั้นเป็นอย่างไร....

-นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เมื่อ 1 มิ.ย.49 "สำหรับกรณีที่นายเปี้ยก กินยาฆ่าตัวตายนั้น ผมสงสัยว่า อาจจะมีเงื่อนงำอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมถูกป้ายสีจากบุคคลบางกลุ่มอย่างแน่นอน โดยมีการใช้ลูกน้องของผมเข้าไปทำเพื่อที่จะได้ให้ร้ายผม และในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่านายสงัด จะคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิด คงจะต้องมีอะไรที่ลึกๆ มากกว่านั้น และมีคนจงใจที่จะนำผมเข้าไปพัวพันกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมได้เตรียมใจไว้แล้วว่า อาจจะต้องถูกออกหมายจับ "

- นายชวน หลีกภัย กล่าวในงานสวดศพ อดีต ส.ส.กอบกุล เมื่อ 3 มิ.ย.49 ".....ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการรื้อฟื้นคดีสังหาร นายสุรชัย ม่วงคุ้ม อดีตสมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์บ้าง...ส่วนผู้ที่ต้องหาที่มีความใกล้ชิดกับว่าที่ผู้สมัครระบบปาร์ตี้ลิสของพรรคจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ประเด็นดังกล่าว นายชวนกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบเรื่องคงต้องไปถามหัวหน้าพรรคเอง..."

-นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) ..."เดี๋ยวก็รู้ว่าใครทำ ปรักปรำกันเกินไป สอบเด็กก็ยังสอบไม่ถูก มันมีการเมืองเข้ามาด้วย"...(ไม่แน่ใจวันที่พูด)
....“ผมไม่ได้เป็นคนยิง ที่ตำรวจพาไปชี้จุดที่ซ้อมยิงปืนก็มีคนเข้าไปยิงตั้งเยอะตั้งแยะ ตำรวจเองยังเข้าไปซ้อมยิงเลย ส่วนที่ไอ้เอ็มสารภาพไปช่วยทำงานเพราะผมมีบุญคุณนั้น อยากถามว่า คนที่มีบุญคุณเขาจะทำกันอย่างนี้เหรอ อย่างกูไม่มีหรอกที่จะไปนั่งตากฝนรอยิงคน เรื่องสารวัตรเปี๊ยกก็แค่คนชี้เป้าจะต้องไปกินยาตายเชียวเหรอ ถ้ากูยิงจริง น่าจะกินยาตายหรือกลั้นใจตายมากกว่า แม้แต่ไอ้เภาก็เคยเล่าให้ฟังว่า สารวัตรเปี๊ยกเคยบ่นว่าต้องกินยาตาย หากไม่ตายก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่”.... (4 มิ.ย.49)

-คำสัมภาษณ์ ของ พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วย ผบ.ตร. โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “อยากเรียนให้ทราบว่าสำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่สูงกว่านี้นั้น ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาได้หลุดปากมารายหนึ่งว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น นายจะรับผิดชอบ แต่เมื่อสอบรายละเอียดลงไปคำว่า นาย หมายถึง ส.ท.ต่าย ส่วนนี้พนักงานประชุมแล้วรายงานว่า มีบางส่วนอาจต้องสอบเพิ่มเติม คดีนี้ก็เหมือนภาพยนตร์ไทยที่ผู้ที่อยู่ในจุดสูงสุดระดับ “เกชา เปลี่ยนวิถี” ใช้คนรอบข้างระดับ “ดามพ์ ดัสกร” เหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็น ทำให้มีความรู้สึกว่าผู้อยู่เบื้องหลังจริงๆน่าจะมี”

-แหล่งข่าวระดับสูงของชุดสืบสวน เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ว่า แนวทางการสืบสวนมุ่งประเด็นความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจก่อสร้างใน จ.ราชบุรี ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของบริษัทท่าราบก่อสร้าง และอยู่ระหว่างก่อสร้างตลาดเมืองราช เป็นตลาดรับ-ส่งสินค้าขนาดใหญ่ในภาคกลาง ซึ่งทำให้มีปัญหากับเจ้าของตลาดชื่อนาย "ร" อดีตนักการเมืองระดับชาติ เนื่องจากนาย "ร" เป็นหัวคะแนนและเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ว.ที่น้องชายของนางกอบกุลชนะการเลือกตั้ง...แหล่งข่าวระดับสูงคนเดิม ระบุด้วยว่า ได้ส่งชุดสืบสวนออกหาข่าวเกี่ยวกับซุ้มมือปืนใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคิรีขันธ์ มาเปรียบเทียบกับแผนประทุษกรรมในที่เกิดเหตุ โดยได้ขอข้อมูลคดีสังหาร นายประยูร สวนเพลง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหัวยชินสีห์ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และคดีสังหาร "โกป่วน" ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2548 ซึ่งทั้ง 2 คดีคนร้ายใช้อาวุธสงครามเอ็ม 16 โดยพบว่ามือปืนนั่งรถปิกอัพยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ 4 ประตู สีบรอนซ์ทอง ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นพาหนะ ซึ่งสอดคล้องกับคดีของนางกอบกุล

- .....พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ.7 กล่าวต่อว่า ส่วนผู้จ้างวานจะมีหรือไม่ ขณะนี้พยานหลักฐานยังไม่แน่นหนาพอ ประกอบกับกลุ่มเหล่านี้ อาจมีนักการเมืองให้การสนับสนุน สามารถกดดันเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ จึงจะโอนคดีไปให้กองปราบปรามรับไปดำเนินการต่อ ..... เพื่อป้องกันข้อครหานินทา เนื่องจากชาวบ้านวิจารณ์ว่าคดีไม่มีทางถึงผู้บงการ...

-พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รักษาการ ส.ว.เชียงใหม่ กล่าวว่า เคยรู้จักกับนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รักษาการ ส.ว.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นคนที่ไม่ได้มีพิษภัยอะไร จำได้ว่าเมื่อครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อต้นปี 48 นางกอบกุล นพอมรบดี ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคไทยรักไทย ได้ไปหาเสียงที่ตลาดศรีเมืองของนายนภินทร ปรากฏว่านายนภินทรยังเป็นคนเดินนำนางกอบกุลไปหาเสียงในตลาดด้วยกันอย่างสนิทสนม "ผมไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังว่าใครจะเป็นผู้บงการฆ่า แต่ถ้านายนภินทรต้องขึ้นศาลหรือตกเป็นผู้ต้องหา ผมจะเป็นคนหนึ่งที่ขอเป็นพยานให้นายนภินทร ในฐานะที่รู้จักกันมาและพูดในสิ่งที่เห็น อย่าเอาความรู้สึกที่คิดว่าน่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ โดยไม่ได้ดูหลักฐาน เหมือนที่เคยจับกุมหมอแว (นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะส.ว.นราธิวาส) ที่สุดท้ายศาลก็ไม่รับฟ้องและเมื่อลงสมัคร ส.ว. ปรากฏว่าได้รับคะแนนเสียง อย่างท่วมท้น"

- ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รักษาการ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียบุคลากรทางการเมืองอันมีคุณค่าของ จ.ราชบุรี โดยเฉพาะเมื่อนายนภินทร รักษาการ ส.ว.ราช บุรี ตกเป็นเป้าอยู่เบื้องหลังการสังหารนางกอบกุล จึงอยากขอร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความสุขุม รอบคอบในการสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้าย โดยมั่นใจว่านายนภินทรไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็นทางลูกน้องรับงานมาทำเอง และที่รู้มาว่าทางนายนภินทรได้ถูกวางตัว จากพรรคการเมืองให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ และมีสิทธิได้รับเก้าอี้รัฐมนตรี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำให้ นายนภินทรตกอยู่ในสภาพลำบาก และกระทบต่ออนาคตทางการเมืองอย่างแรง อย่างไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่าคนอยู่เบื้องหลังการฆ่านางกอบกุล จะเป็นเพื่อน ส.ว. คนนี้อย่างแน่นอน"

- ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายนำโดยกองปราบปรามและศูนย์สืบสวนภาค 7 ได้ควบคุมตัว นายรุ่ง (ไม่ทราบนามสกุล) เด็กขายพวงมาลัยในตลาดศรีเมือง ไปสอบสวนปากคำในเซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง เนื่องจากตามแนวทางการสืบสวนทราบว่า นายรุ่งเป็นผู้ที่นำอาวุธปืนเอ็ม 16 ไปทิ้งในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณสะพานบางตะโหนด ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังเกิดเหตุ โดยนายรุ่ง จะเป็นกุญแจสำคัญอีกคนหนึ่ง ที่จะเชื่อมโยงไปถึงผู้ร่วมขบวนการ แต่การสอบสวนยังไม่เป็นที่เปิดเผย

-นายเล็ก ศักดิ์สมบูรณ์ บิดาของ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ กล่าวฝากกองปราบปรามฯ เมื่อวันไปขอบคุณการทำงานของตำรวจ ที่ สตช. (6 มิ.ย.49) ".....ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการรื้อฟื้นคดีสังหาร นายสุรชัย ม่วงคุ้ม และนักการเมืองอีกหลายคน ที่เกิดขึ้นใน จ.ราชบุรี"

-นายสุรินทร์ สวัสดี พ่อบุญธรรมของ นายอนันตศักดิ์ กล่าวเมื่อ 13 มิ.ย.49 ว่า นายอนันตศักดิ์ได้มาอยู่กับตนตั้งแต่เด็ก และเห็นว่านายอนันตศักดิ์เป็นคนขยัน จึงให้มาทำงานด้วย ซึ่งพ่อและแม่นายอนันตศักดิ์เป็นใครตนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าครอบครัวของนาย อนันตศักดิ์อยู่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ตนไม่เชื่อว่านายอนันตศักดิ์เป็นคนทำ ก็ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ และทุกฝ่ายให้ความเป็นธรรมกับนายอนันตศักดิ์ด้วย

ข้อความบางตอนจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของกลุ่มคนร้ายด้วยโปรแกรมไอทู
.....ผลการตรวจสอบจากโปรแกรมไอทูพบว่า ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุทั้งสามคน (หมายถึง นายต่าย นายเอ็ม และนายเปี๊ยก) มีการติดต่อสื่อสารกันตลอด แล้วยังเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งอย่างน่าสงสัย.........ซึ่งโปรแกรมไอทูเองก็แสดงหลักฐานการติดต่อระหว่างนายวิญญูกับผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ด้วย แม้จะอ้างกับญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ว่าหลบไปอยู่ต่างจังหวัด แต่หลักฐานที่พบในโปรแกรมไอทูกลับเป็นไปอีกทางหนึ่ง........นอกจากนี้ โปรแกรมไอทูยังบอกด้วยว่า ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างน้อยอีก 2-3 คน ประกอบกับการสอบปากคำนายอานนท์อย่างละเอียดให้การซัดทอด นายวันชนะ ศุภชัยศิริเรือง คนนำปืนเอ็ม 16 ทูตสังหารไปทิ้งแม่น้ำแม่กลอง และนายกรวิทย์ หรือเก้านิ้ว วีระวรวงศ์ คนชี้เป้าอีกคน..ทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซัดทอดไปถึง "จอมบงการ" ที่อยู่เบื้องหลังคดีอุกอาจสะเทือนขวัญครั้งนี้ นั่งรับประทานอาหารรอฟังผลปฏิบัติการของทีมสังหารอยู่ที่ร้านแห่งหนึ่งในเมืองราชบุรี

ข่าวลือเพิ่มเติม
-ข่าวลือที่ 1 อดีต ส.ส.กอบกุลฯ ได้มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าคาร์ฟู บริเวณสี่แยกเจดีย์หัก และได้เป็นที่ตกลงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเดิมห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูจะซื้อที่ดินสร้างบริเวณที่ของนาย จ. (ตลาดกำนันยงค์เก่า) ต่อมาแห่งที่สองคือ บริเวณตลาดกำนันหลัก และสุดท้ายกลับกลายมาเป็นที่ดินของ ส.ส.กอบกุลฯ ที่กว้านซื้อเอาไว้ตรงสี่แยกเจดีย์หัก
-ข่าวลือที่ 2 คืนวันสังหาร หลังจาก ส.ส.กอบกุลฯ ออกจากงานบวชแล้ว ในระหว่างการเดินทาง รถของ ส.ส.ฯ ได้หายไปพักหนึ่ง โดยท่านได้แวะไปงานวันเกิดของชาวบ้านแถวๆ บริเวณนั้น ทำให้คาดสายตาจากคนชี้เป้า....ซึ่งตอนนั้นแผนสังหารจึงถูกสั่งยกเลิกแล้ว..

-ข่าวลือที่ 3 หลังจากยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ ก็ได้เป็น ส.ส.เขต 1 ราชบุรี ต่อมา ศาลฯ สั่งการเลือกตั้งใหม่เป็นโมฆะ อดีต ส.ส.กอบกุลฯ จึงถูกวางตัวในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ภายใต้การสนับสนุนและการผลักดันของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ) ซึ่ง อดีต ส.ส.กอบกุลฯ อาจมีสิทธิได้เป็นรัฐมนตรีหญิงในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ในข้อตกลงภายในของ พรรคไทยรักไทย ได้มีการแบ่งโควต้า ไว้ว่า ส.ส.ในเขตภาคกลาง จะได้เป็น รมต. เพียงคนเดียว ซึ่งเดิมมี นาย ส. เป็นอยู่ หากอดีต ส.ส.กอบกุลฯ ขึ้นมาแทนที่ นาย ส.จะหมดสิทธิ์ทันที
-ข่าวลือที่ 4 นาย ส. เป็น รมต.ที่ถูกปรับย้ายหลายกระทรวง เนื่องจากทำงานไม่เก่ง ผลงานไม่เข้าตา อีกทั้ง นาย ส. ยังเป็น ส.ส.ในกลุ่มวังน้ำเย็น จึงไม่ค่อยเป็นที่ไว้วางใจของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ นายก รมต.เท่าใดนัก พรรคไทยรักไทยจึงกำลังจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธาน ส.ส.ภาคกลาง (ซึ่งเดิม นาย ส.เป็นอยู่) แหล่งข่าวภายในแจ้งว่า อดีต ส.ส.กอบกุลฯ อาจจะถูกเลือกให้ขึ้นเป็นแทน นาย ส. (ภายใต้การสนับสนุนและการผลักดันของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)
-ข่าวลือที่ 5 คืนนั้นทีมสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุลฯ อาจจะมีจำนวน 2-4 ทีม
-ข่าวลือที่ 6 คืนวันสังหารกอบกุลฯ นาย ส. นั่งรับประทานอาหารอยู่ร้านอาหารไทย, นาย น. นั่งรับประทานอาหารอยู่ร้านคาวบอย ส่วน นาง ก. พร้อมครอบครัวทั้งหมด ร่วมงานเลี้ยงเล็กๆ อยู่แถวซอยต้นจันทร์
-ข่าวลือที่ 7 กำนัน ร. มอบเงินให้ ส.ส.กอบกุลฯ ช่วยซื้อเสียงให้ ตอน เลือก สว. แต่ ส.ส.กอบกุลฯ หักหลัง
-ข่าวลือที่ 8 การสังหาร ส.ส.กอบกุล ในคืนนั้น ยังมี นาย ฟ. นาย ร. ซึ่งทำงานอยู่ในตลาดศรีเมือง ร่วมทีมสังหารด้วย

-ข่าวลือที่ 9 นายสงัดหรือสารวัตรเปี๊ยก มีเงินฝากอยู่ในธนาคารฯ มากกว่า 40 ล้านบาท

แผนการสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุลฯ มีบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์
หลังจากท่านผู้อ่านได้อ่านลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ คำพูด และบทความ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข่าวลือ ที่น่าสนใจ อาจจะพอมองเห็นข้อสังเกตและข้อมูลบางอย่างที่ยังรู้สึกติดๆ ขัดๆ อยู่ ดังนี้

ทำไมทีมสังหารจึงไปดักรออยู่บริเวณหน้าวัดอรัญญิก?
-ในคืนนั้น เมื่ออดีต ส.ส.กอบกุลฯ ออกเดินทางจากงานบวช ที่ ต.เกาะพลับพลา จะสามารถเลือกใช้เส้นทางเข้าเมืองราชบุรีได้สองเส้นทาง คือ ทางถนนเจดีย์หัก และทางถนนเขางูสายเก่า(ผ่านหน้าวัดอรัญญิก) ....ถ้าคืนนั้น อดีต ส.ส.กอบกุลฯ เลือกเดินทางถนนสายเจดีย์หัก คงไม่ถูกสังหาร.....ทีมสังหารไม่น่าชะล่าใจเช่นนี้ ...หรือว่า ทีมสังหารมั่นใจว่า อดีต ส.ส.กอบกุลฯ จะมาทางถนนเขางูสายเก่าอย่างแน่นอน ..หรืออีกประเด็นหนึ่ง เดิมทีมสังหารดักรออยู่หน้าวัดราชสิงขร แต่คลาดกับอดีต ส.ส.กอบกุลฯ (ซึ่งข่าวว่า ส.ส.กอบกุลฯ หายไปงานวันเกิดของชาวบ้านคนหนึ่งแถวบริเวณนั้น โดยไม่มีใครรู้) จึงยกเลิกแผนสังหาร และกำลังขับรถกลับไปตั้งหลักที่บ้านนายเอ็ม ที่หลุมดิน เพื่อเอาปืน M16 ไปซ่อนกลับไว้ตามเดิมที่บ้านนายเอ็มฯ แล้วค่อยหาโอกาสลงมือใหม่...แต่ขณะที่เดินทางกลับ เผอิญได้รับแจ้งจากคนชี้เป้าว่า พบ ส.ส.กอบกุลฯ แล้ว กำลังเข้าเมืองโดยใช้เส้นทางสายเก่านี้....ทีมสังหารจึงหยุดรถดักรอที่หน้าวัดอรัญญิก ...เพื่อหาจังหวะลงมือ...

พื้นที่สังหาร (Killing Zone) ไม่เหมาะสม และเวลาสังหาร (Timing) มีน้อยเกินไป..?
-หากทีมสังหารดักรออยู่หน้าวัดอรัญญิก เวลารถ ส.ส.กอบกุลฯ ซึ่งผ่านมาด้วยความเร็ว แล้วรถทีมสังหารจึงค่อยออกรถตามมา กว่าจะเร่งความเร็วทันกัน เพื่อตามประกบยิง ระยะทางก็เกือบจะถึงสี่แยกเขางูแล้ว คงหมดโอกาสลงมือ....
-การขับรถประกบยิง ต้องเป็นคนขับรถที่มีฝีมือ ส่วนมือสังหารต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธมาก... ดูแล้วนายเลิฟ นายเอ็ม และนายต่าย ไม่น่าจะเลือกใช้แผนนี้... เพราะขาดความชำนาญ และยิ่งเป็นเป้าเคลื่อนที่ด้วยแล้ว พอเริ่มขับรถประกบ หากยิงนัดแรกไม่ล่วง ...คนขับรถ ส.ส.กอบกุลฯ ย่อมตื่นตัว และขับรถหนีได้ทัน....ทีมสังหารไม่น่าวางแผนแบบนี้...
-หากคืนนั้น รถ ส.ส.กอบกุลฯ ไม่ติดไฟแดง หรือเลี้ยวซ้ายไปงานต่อที่วัดโพธิ์ราษฎร์บูรณะ หรือกลับบ้านเลย...แผนสังหารคืนนั้นคงล้มเหลว...กลุ่มทีมสังหารไม่น่าประมาท...

นายสงัด พุ่มเพ็ง ฆ่าตัวตาย หรือถูกวางยา?
-ร.พ.ตำรวจ แถลงว่า นายสงัด พุ่มเพ็ง น่าจะกินยาฆ่าแมลงฆ่าตัวตายเอง ไม่ได้ถูกจับกรอกใส่ปากเพื่อฆ่าตัดตอนตามที่มีการตั้งข้อสังเกต..
-นางละเอียด บุญเกตุ ภรรยา(หลวง) ของนายสงัดฯ ยืนยันว่าลายมือที่นายสงัดฯ เขียนไว้ก่อนตาย เป็น ของสามีจริง
-นายณรงค์ พุ่มเพ็ง และ นางอนุ พุ่มเพ็ง ลูกชายและลูกสาวของนายสงัด ยืนยันหนักแน่นว่า พ่อไม่ฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน ส่วนลายมือที่บอกว่าเป็นลายมือของพ่อนั้นก็ยังไม่เห็น แต่ถ้าเห็นจะจำลายมือพ่อได้ว่าใช่หรือไม่
-แหล่งข่าวจากผู้ใกล้ชิด ยืนยันว่า นายสงัดฯ เป็นนักเลง เล่นการพนันเป็นชีวิตจิตใจ เป็นคนปากหวาน เจ้าชู้มีเมียหลายคน คล่ำหวอดในวงการมาอย่างโชกโชน ผ่านเรื่องคอขาดบาดตายมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่มีทางที่นายสงัดฯ จะฆ่าตัวตาย....
-นายต่ายฯ เคยพูดถึง นายสงัด ขณะอยู่ในคุก ว่า "สารวัตรเปี๊ยก เป็นแค่คนชี้เป้าจะต้องไปกินยาตายเชียวเหรอ...ไอ้เภา (หมายถึง นายพงศ์พัฒน์ นาคหนู) เคยเล่าให้ฟังว่า..สารวัตรเปี๊ยกเคยบ่นว่าต้องกินยาตาย หากไม่ตายก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่.."
อนุมานความเป็นไปได้
1.นายสงัดฯ อาจจะถูกวางยาจากคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว พอเริ่มรู้ตัวว่าถูกวางยาแล้ว..ไม่รอดแน่..จึงอาจเขียนข้อความทิ้งไว้ก่อนตาย...
2.มีผู้เกลี่ยกล่อมให้นายสงัดฯ กินยาตาย และก่อนตายควรเขียนข้อความทิ้งไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา
3.ผู้วางยาอาจเขียนข้อความขึ้นภายหลังที่นายสงัดตายแล้ว


การอนุมานความเป็นไปได้ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ต้องรอผลการพิสูจน์ลายมือ ซึ่งจนบัดนี้...ยังไม่มีการแถลงข่าวเรื่องข้อความที่เขียนไว้ ว่าเป็นลายมือของนายสงัดจริงหรือไม่ หากใช่..ขณะที่เขียนมีอารมณ์อย่างไร และต้องการบอกอะไรในข้อความที่เขียนนั้น...

ปืนหายไปไหน 1 กระบอก
-ยังไม่มีการค้นพบปืนของกลางอีก 1 กระบอก ที่อ้างว่านายต่ายใช้ยิง
-ปืนกระบอกที่พบเมื่อ ห้าทุ่มของวันที่ 1 มิ.ย.49 ใช้ปืนกระบอกจริงที่นายเอ็มฯ ใช้ยิงหรือไม่
-แหล่งที่มาของปืน ตำรวจก็ไม่แถลงข่าวโดยแน่ชัด

ทำไมไม่มีการพิสูจน์เขม่าดินปืนที่ตัวฆาตกร
-ตำรวจไม่มีการแถลงผลการพิสูจน์คาบเขม่าดินปืน (พาราฟินเทส) ที่ตัวของนายเอ็ม นายต่าย และสองพ่อลูกเมืองเพชร ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือปืน ซึ่งธรรมดาต้องกระทำ (หรืออาจจะมี แต่เก็บเป็นหลักฐานโดยไม่แถลงข่าว กลัวเสียรูปคดีก็ได้ อันนี้ข้าพเจ้าอนุมานเข้าข้างตำรวจเอง)

นายเภา นายเก้า นายวัน อีกทั้ง นาย ฟ. นาย ร. และนายรุ่ง เด็กขายพวงมาลัย หายไปไหน
-ไม่มีข่าวคราวของนายเภา นาคหนู เลย (เจ้าของบ้านที่นายสงัดฯ ไปกินยาตาย)
-ไม่มีข่าวคราวของนายวันชนะ ศุภชัยศิริเรือง (วัน) ซึ่งเป็นคนขับรถนำปืนไปทิ้ง
-ไม่มีข่าวคราวของนายชยสิทธิ์ ธีระวรวงศ์ (เก้า) ที่ขับรถพา นายอนันตศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ (ส.ท.ต่าย) ไปส่งที่บ้านนายเอ็ม เพื่อร่วมทีมสังหาร
-นาย ฟ. นาย ร. และนายรุ่ง ก็หายไปจากข่าวเช่นกัน

บทวิคราะห์
ด้านทีมสังหาร
-ทีมสังหาร อดีต ส.ส.กอบกุลฯ คืนนั้น น่าจะมีอย่างน้อย 2 ทีมหรือมากกว่า
-มือปืนผู้ได้รับมอบหน้าที่ลั่นกระสุนสังหารทั้ง 2 ทีม น่าจะเป็นมือปืนอาชีพ สังเกตจากลักษณะการยิงนั้น ไม่ตั้งใจฆ่าคนขับและตำรวจติดตาม ซึ่งหากเป็นฝีมือนายเอ็ม ที่เพิ่งหัดยิงปืน M16 ได้เพียง 3 ครั้ง ณ สถานการณ์นั้นคงต้องตายหมดทั้งคันรถ
-มือปืนมืออาชีพในทีมสังหารนั้น น่าจะเป็นพวกเสือเฒ่า หรือทายาทเกิดใหม่ของมือปืน จึงไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีซุ้มมือปืนของตำรวจ

นายต่ายฯ ทำไมถึงปิดปากเงียบ
-เพราะนายต่ายฯ ไม่ได้ยิง แต่นายต่าย รู้ว่าใครบงการ นายต่ายปิดปากเงียบ เพราะไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยของภรรยา นายต่าย เชื่อว่าหากตนพูดความจริงไปแล้ว พยานหลักฐานต่างๆ ก็คงไม่เพียงพอที่จะจับจอมบงการได้ เมียตัวเองจะซวย
-นายต่ายรู้ดีว่านายของตนเองไม่สามารถปกป้องภรรยาของนายต่ายได้ เพราะนายของอีกฝ่าย (ที่เป็นจอมบงการ) มีอิทธิพลทางมืดที่เหนือกว่า นายต่ายจึงไม่ยอมเปิดปากสารภาพ ถึงแม้ว่า การเปิดปากสารภาพจะทำให้นายของตนเองพ้นผิดก็ตาม
-การปิดปากเงียบจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในขณะนี้
-ในชั้นศาล นายต่ายฯ ก็เพียงแต่จะต้องพิสูจน์และยืนยันให้ศาลทราบว่าในคืนนั้นว่า "เขาไม่ได้เป็นผู้ยิง อดีต ส.ส.กอบกุลฯ เท่านั้นเอง" แต่นายต่ายคงไม่เปิดปากเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น

นายสงัด (สารวัตรเปี๊ยก) มี สองนาย
-นายแรก เป็นนายเก่า พอนายเก่าหมดอำนาจ ก็ได้มาอาศัยอำนาจ บารมี ของนายใหม่และยึดถือเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
-แผนการสังหารจากจอมบงการ ถูกสั่งผ่านมายังนายสงัด นายสงัดจึงชักชวนบุคคลรอบข้างฯ (ซึ่งเผอิญเป็นคนที่ทำงานร่วมกันในตลาดศรีเมือง) เข้ามาร่วมทีมสังหาร
-แผนการสังหาร การกำหนดเวลา การจัดหามือปืนและอาวุธถูกส่งผ่านมาทางนายสงัดฯ

นายสงัดถูกหักหลัง
-ตำรวจทำงานได้รวดเร็วมาก รู้ทีมสังหารทั้งหมดภายในไม่ ถึง 3 วัน คือ นายเอ็ม นายต่าย สองพ่อลูกเมืองเพชร และนายสงัดฯ เนื่องจากตำรวจได้รับพรายกระซิบชี้แนะมาว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มนี้
-นายสงัดฯ รู้ตัวว่าถูกหักหลัง นายสงัดจึงหนีไม่ยอมให้ถูกจับ (ซึ่งถูกจับแล้วก็อาจจะถูกสั่งเก็บได้เหมือนกัน) เพื่อความปลอดภัยของชีวิตลูกเมียและครอบครัว จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายดีกว่า แถมก่อนตายได้เขียนจดหมายเพื่อเป็นการปลดปล่อยทั้งนายเก่า และนายใหม่ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันหรือเป็นข้อสัญญาว่า หลังจากข้าตายแล้ว บรรดานายๆ ทั้งหลายต้องช่วยดูแลลูกเมียของข้าด้วยนะ ดังเช่นข้อความที่ว่า "การสังหาร นางกอบกุล ในครั้งนี้ เขาเป็นคนทำเองคนเดียว เนื่องจากแต่ก่อน เขาเคยช่วยเหลือนางกอบกุลฯ แต่นางกอบกุลกลับหักหลังเขา และด่าว่าเขา " ข้อความนี้เพื่อปลดปล่อยนายเก่า "ฝากขอโทษถึง นายนภินทรฯ เจ้าของตลาดศรีเมืองด้วย ที่เขาทำอะไรแล้วไม่บอก" ข้อความนี้เพื่อปลดปล่อยนายใหม่ ซึ่งถือว่ามีบุญคุณต่อเขาเช่นกัน

นายเอ็มฯ ถูกสั่งให้ซัดทอดนายต่าย
-ตามรูปการ นายเอ็มฯ น่าจะซัดทอดไปนายสงัดฯ ที่ตายไปแล้วเสียดีกว่าจะได้จบเรื่อง
-แต่เรื่องไม่น่าง่ายอย่างที่คิด หากซัดไปที่นายสงัดฯ ผลจะไปเกิดขึ้นแก่จอมบงการตัวจริง แต่หากซัดทอดไปยังนายต่ายฯ ก็จะห่างไกลจากจอมบงการ และยังมีผลไปถึงนายของนายต่ายฯ ด้วย
-ทำไมนายเอ็มฯ ถึงต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะนายเอ็มรู้ว่า ความปลอดภัยของแม่และครอบครัวตนเองอยู่ในมือของจอมบงการ คนนั้น ซึ่งมีอิทธิพลมาก
-นายเอ็มฯ คือเด็กของนายสงัด ซึ่งนายสงัดเป็นผู้ชักชวนเข้าสู่วงการ (ไม่ใช่เด็กของนายต่าย) คนที่มีบุญคุณที่แท้จริงของนายเอ็ม คือ นายสงัด

สรุปได้ว่า ทั้งหมดนี้ คือละคร...ที่ถูกสร้างให้พวกเราเห็น ฆาตกรผู้ลงมือสังหารตัวจริงยังลอยนวล แทบไม่มีหลักฐานใดๆ...เลยที่จะต่อยอดและสืบสาวไปถึงผู้บงการตัวจริง....ละครกำลังจะปิดฉากลง

สงสารแต่เพียง อดีต ส.ส.กอบกุลฯ ที่อาจจะต้องตายฟรี? เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ผ่านมา...แล้ววันเวลา ก็จะทำให้ทุกคนลืมเลือน

น่าสงสาร...ประเทศไทย.....

เขียนโดย ชาติชาย คเชนชล 24 มิ.ย.49